มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 เรื่อง นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ

โดย นายอนุวัตร จินตกสิกรรม1

นายเอกชัย ระดาพัฒน์2

นางสาวเกษศิรินทร์ ลาภปรากฎ3

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ

“ที่ดิน” เป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจากเป็นที่อยู่อาศัยแล้วนั้น ปัจจุบันยังถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่า มีราคา สามารถใช้เป็นหลักประกัน เหตุนี้ผู้คนในสังคมจึงมีความต้องการที่จะครอบครองที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการบุกรุกจับจองที่ดินของนายทุนและการออกโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรภายในประเทศ ขณะที่ที่ดินมีอยู่อย่างจำกัด เกิดปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน ส่งผลให้มีการบุกรุกที่ดินของรัฐเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2558 - 2564 ในปี พ.ศ. 2564 มีสถิติการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ รวม 1,893 คดี และมีพื้นที่ถูกบุกรุกรวม 18,711.32 ไร่ การบุกรุกพื้นที่าไม้ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าในปี พ.ศ. 2564 มีคดีบุกรุก 483 คดี และมีพื้นที่ถูกบุกรุกรวม 2,056.24 ไร่ และการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 – 2562 มีคดีรวมทั้งสิ้น 1,330 คดี สูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนรวม 52,970.46 ไร่4

ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ดังที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นปัญหาที่ถูกสะสมมาเป็นระยะเวลานาน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลในขณะนั้น (รัฐบาลนายชวน หลีกภัย) จึงได้กำหนดนโยบายในการเร่งรัดการปฏิรูปที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ เพื่อกระจายสิทธิการถือครองที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ และเกษตรกรที่ครอบครองทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ โดยการปรับปรุงกลไกการบริหารและการจัดการของรัฐ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 4 ล้านไร่5 โดยต่อมารัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ได้กำหนดให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2535 ขึ้น6 ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ หรือ กบร. ขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย กบร. ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536 ได้มีมติเห็นชอบร่างนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 ได้มีมติเห็นชอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามที่ กบร. เสนอ ซึ่งถือว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้วางหลักการสำคัญไว้ว่า รัฐจะไม่ออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินแก่ผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ แต่จะออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิในที่ดินว่าได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการสงวนหวงห้ามของรัฐ7 และได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐในขณะนั้นไว้ในลักษณะที่เชื่อมโยงกับแนวทางการปฏิรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 25188 โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ประกอบด้วยสาระสำคัญ 7 ประการ ดังนี้9

  1. รัฐควรเร่งรัดให้มีการดำเนินการออกเอกสารสิทธิแก่ราษฎร ในกรณีดังต่อไปนี้
    1. กรณีที่เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่รัฐได้สงวนหวงห้ามไว้ตามกฎหมายและหากพิสูจน์ได้ว่าได้อยู่มาก่อนการสงวนหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐ หรือเป็นหมู่บ้านเก่าที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้อยู่มาแต่ดั้งเดิม หรือครอบครองต่อเนื่องมาจากผู้ครอบครองแต่เดิมมาก่อนการสงวนหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบและจัดทำทะเบียนบัญชีหรือจัดทำแผนงานและโครงการออกเอกสารสิทธิของผู้ครอบครองเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐาน
    2. ราษฎรที่อยู่บริเวณแนวเขตที่ดินของรัฐ ที่ยังมีแนวเขตที่ไม่ชัดเจนให้เร่งดำเนินการสำรวจแนวเขตให้แน่นอน เมื่อรัฐได้สำรวจและจัดทำแนวเขตที่ชัดเจนแล้ว ถ้าปรากฏว่าราษฎรเหล่านี้ครอบครองทำกินอยู่นอกเขตที่ดินของรัฐ ก็ควรพิจารณาดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎรตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
  2. รัฐไม่ควรให้เอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินแก่ผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ
  3. ที่ดินของรัฐ (ยกเว้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตพื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 พื้นที่สงวนหวงห้ามไว้ใช้ประโยชน์ในราชการ และที่ดินที่ยังไม่หมดสภาพการเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน) ที่มีผู้บุกรุกครอบครองและรัฐไม่มีความจำเป็นต้องสงวนไว้อีกต่อไป ให้ดำเนินการตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินและเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามหลักการปฏิรูปที่ดินให้ได้ผลอย่างแท้จริง สมควรให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
    1. ในเขตปฏิรูปที่ดิน หากมีผู้บุกรุกถือครองที่ดินและเจ้าของที่ดินต่อต้านการปฏิรูปที่ดิน หรือไม่ให้ความร่วมมือในการกระจายสิทธิการถือครองที่ดิน ให้ ส.ป.ก ดำเนินการโดยขอความร่วมมือจากฝ่ายปกครองหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ต่อต้านโดยเคร่งครัด พร้อมทั้งรายงาน กบร. เพื่อประสานงานแก้ไขปัญหาทุกพื้นที่และทุกราย
    2. การนำที่ดินของรัฐมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้ ส.ป.ก พิจารณาดำเนินการจัดเก็บค่าเช่าหรือค่าชดเชยเข้ากองทุนปฏิรูปที่ดิน ตามหลักการและวิธีการในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเช่าตาม พ.ร.บ. ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เพื่อจะได้นำเงินไปใช้ดำเนินการในโครงการพัฒนาพื้นที่ หรือนำไปใช้จัดหาที่ทำกินให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินได้เช่าหรือเช่าซื้อต่อไป ทั้งนี้ ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับค่าเช่าตาม พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524
    3. ควรกำหนดเนื้อที่สูงสุดสำหรับสมาชิกแต่ละรายเท่าที่จำเป็นต่อการทำกินแต่ละประเภทตามความเหมาะสม และความอุดมสมบูรณ์ในแต่ละพื้นที่ของเขตปฏิรูปที่ดิน สำหรับพื้นที่ส่วนที่เกินความจำเป็นของสมาชิกแต่ละราย ควรกำหนดเงื่อนไขให้ปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นต่อไป
    4. ให้ ส.ป.ก กำหนดมาตรการในการติดตามและตรวจสอบการครอบครองทำประโยชน์ของสมาชิกผู้ได้รับสิทธิแต่ละรายให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดและโดยต่อเนื่องตลอดไป
  4. ที่สาธารณประโยชน์ ที่ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม ที่มีผู้บุกรุกครอบครองทำประโยชน์ แต่มิได้กำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
    1. ให้เช่าหรืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์โดยเสียค่าตอบแทนหรือได้รับเอกสารพิเศษที่มีหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกับเอกสาร ส.ป.ก. ตามจำนวนเนื้อที่ที่ได้บุกรุกครอบครองทำประโยชน์อยู่เดิมแล้วแต่กรณี แต่ต้องไม่สูงกว่าที่ส่วนราชการที่รับผิดชอบพิจารณาเห็นสมควร ทั้งนี้ โดยให้กำหนดค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามหลักการและวิธีการเกี่ยวกับค่าเช่าตาม พ.ร.บ. ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 กรณีการเช่าในส่วนที่เกินกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ส่วนราชการผู้รับผิดชอบเห็นสมควร ให้คิดค่าเช่าหรือค่าตอบแทนในอัตราก้าวหน้า โดยคำนึงถึงอัตราการเช่าตาม พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ด้วย
    2. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้เก็บค่าเช่าหรือค่าตอบแทนไว้ โดยให้แบ่งหนึ่งในสามเป็นกองทุนพัฒนาชนบทและจังหวัด และอีกสองในสามเป็นกองทุนพิทักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ
    3. กำหนดเงื่อนไขให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ในพื้นที่ส่วนที่เกินความจำเป็นต่อการทำกินของเกษตรกรแต่ละราย ตามความอุดมสมบูรณ์และความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ กรณีที่มีความจำเป็นในแง่การอนุรักษ์ หรือการป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม ก็ควรกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้พื้นที่ทำนาหรือทำพืชไร่ หรือกำหนดมาตรการฟื้นฟูที่เหมาะสมต่อไป
  5. ให้จัดสรรงบประมาณแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการผลิตกล้าไม้ผล ไม้ยืนต้น อย่างเพียงพอ ที่จะบริการแก่เกษตรกรในราคาต้นทุนในทุกพื้นที่ที่จะดำเนินการตามข้อ 4 และให้จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการจัดทำแนวเขตพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐให้ชัดเจนและถาวรในทุกโครงการของทุกส่วนราชการ
  6. ในกรณีที่มีการดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินการบังคับคดีโดยทันที พร้อมทั้งให้รายงานกระทรวงต้นสังกัด และ กบร. ทราบด้วย ห้ามมิให้ละเลย ปล่อยทิ้งเป็นเวลาเนิ่นนาน ทั้งนี้ ควรมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจราชการของหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องติดตามการบังคับคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นคดี
  7. ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี และหรือให้แก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐข้างต้น

แม้ว่าปัจจุบันจะได้มีการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งส่งผลเป็นการยกเลิกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.)10 และทำให้การดำเนินนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวของ กบร. ต้องกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยที่ กบร. ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้นำนโยบายแก้ไขปัญหาและป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามมาตรการของ กบร. ไปเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการของ คทช. รวมถึงให้มีการโอนอำนาจหน้าที่ของ กบร.จังหวัด กบร.กทม. และคณะอนุกรรมการพิจารณาผลการพิสูจน์สิทธิของ กบร.จังหวัดนครสวรรค์ ในฐานะกลไกการขับเคลื่อน การดำเนินงานของ กบร. ไปเป็นอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมของคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) และเสนอ คทช. ให้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ เป็นคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. อีกคณะหนึ่ง11 ซึ่งปัจจุบัน คทช. ได้กำหนดให้มีมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ และมาตรการของ คทช. เรื่อง ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานอ่านภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) และคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐที่ได้รับการถ่ายโอนมาจาก กบร. ตามที่กล่าวมาข้างต้น12

นอกจากนี้ คทช. ยังได้กำหนดให้มีนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวมโดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช. กำหนดในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ป่าไม้หรือที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการผ่อนปรนเชิงนโยบายให้กับประชาชนและแก้ไขปัญหาที่ถูกสะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน

จะเห็นได้ว่า แม้รัฐบาลจะได้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) แต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 เรื่อง นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ยังคงมีผลในแง่ของการวางหลักการที่สำคัญในการดำเนินนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐที่ว่า “รัฐจะไม่ออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินแก่ผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ แต่จะออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิในที่ดินว่าได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการสงวนหวงห้ามของรัฐ” ซึ่งยังคงเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายของ คทช. และการดำเนินนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน ควบคู่กับการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านกับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 และการกำหนดพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผ่อนปรนเชิงนโยบายของภาครัฐและการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุก/การอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินของรัฐอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากรายละเอียดบางประการของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐสอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนจะนำเสนอรายละเอียดและสาระสำคัญ ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ในบทความมติคณะรัฐมนตรีที่ประชาชนควรรู้ในลำดับต่อไป


อ้างอิง

1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

3 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านงานสนับสนุนและงานวิชาการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

4 สำนักงานคณะกรรมโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2570), หน้า 71.

5 เว็บไซต์รัฐบาลไทย. คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันพุธที่ 13 ตุลาคม 2535. สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/aboutus/history/policy/14 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566.

6 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2535 ต่อมาได้มีการปรับปรุง แก้ไข และเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง ได้แก่ (1) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2538 (2) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 และ (3) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547

7 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 – 2564) กบร. ได้กำหนดให้มีมาตรการของ กบร. ขึ้นมาจำนวน 2 มาตรการ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน ได้แก่ มาตรการของ กบร. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ และมาตรการของ กบร. เรื่อง ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ

8 อนุวัตร จินตกสิกรรม. (2563). ที่มาและพลวัตของนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545, หน้า 81 – 82.

9 หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0206/6179 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2536 เรื่อง นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ.

10 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 181 ง (4 สิงหาคม 2565).

11 รายงานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564, หน้า 8 – 11.

12 รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564, หน้า 24 – 28. และคำสั่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่ 1/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และเพิ่มเติมองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการ สั่ง ณ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564.


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint