สำรวจนโยบายด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ออกมานำเสนอในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2566 มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

โดย นายอนุวัตร จินตกสิกรรม1

นางสาวพัทธนันท์ คล้ายกระแส2

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ

ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งบรรดาพรรคการเมืองต่างนำเสนอนโยบายด้านต่าง ๆ ออกมาเพื่อซื้อใจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อหวังว่าจะได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด และได้มีโอกาสเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองของตน (Political Campaign) ให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ที่จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าในมิติต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง ซึ่งในอีกแง่หนึ่งช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งถือเป็นช่วงเวลาของการถกเถียงและปะทะสังสรรค์ทางความคิดเห็นของสาธารณะและสังคมต่อประเด็นปัญหาเชิงนโยบายที่อาจนำไปสู่การตกผลึกทางความคิดของสังคมต่อไป

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ปี พ.ศ. 2566 ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยจะได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศร่วมกัน รวมถึงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมือง และนโยบายที่ตอบโจทย์และตรงใจประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมากที่สุด โดยที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองที่เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 70 พรรค มีจำนวนผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 4,781 คน จำนวนผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1,899 คน และมีการเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจาก 43 พรรคการเมือง จำนวนรวม 63 คน3 โดยที่ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนจะพาผู้อ่านทุกท่านไปสำรวจนโยบายด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ออกมานำเสนอในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และเพื่อให้เห็นทิศทางและแนวโน้มต่อนัยของการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านที่ดินและทรัพยากรดินของรัฐบาลภายหลังจากการเลือกตั้งในครั้งนี้เสร็จสิ้นลง ซึ่งพรรคการเมืองสำคัญ ๆ ได้เสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินที่น่าสนใจ โดยผู้เขียนได้สรุปนโยบายจากข้อมูลที่พรรคการเมืองเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ พอสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

     พรรคการเมือง     นโยบายด้านที่ดินและทรัพยากรดิน
1. พลังประชารัฐ4
  • เร่งรัดออกเอกสารสิทธิที่ดินทุกประเภท (เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด)
  • จัดที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คนไร้ที่ทำกินกว่า 2 ล้านราย
  • ยกระดับธนาคารที่ดิน
  • ตั้งศูนย์พิสูจน์และคุ้มครองสิทธิประชาชน เพื่อชะลอการดำเนินคดีและการนิรโทษกรรมความผิดเกี่ยวกับที่ดิน
  • สังคายนากฎหมายที่ดินทั้งระบบ เพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ และคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน
2. รวมไทยสร้างชาติ5
  • ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ “One Map” เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน โดยเริ่มจาก 11 จังหวัดภาคกลาง และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
  • แก้กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินทั้งหลาย เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือมีที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ ได้มีสิทธิครอบครองและสิทธิทำกิน
3. ประชาธิปัตย์
  • ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี เป็นมาตรการเชิงรุกที่ต่อยอดการออกโฉนดที่ดินทํากินของกรมที่ดิน ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างหลักประกันในชีวิต ความมั่นคงในอาชีพให้แก่ประชาชน และช่วยกระตุ้นการพัฒนาในภาพรวม6
  • ออกกรรมสิทธิ์ทํากินให้ผู้ทํากินในที่ดินของรัฐ เพื่อสร้างหลักประกันการประกอบอาชีพและอยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่ทํากินในที่ดินของรัฐ ใน 2 ลักษณะ ได้แก่7
    1. ประชาชนที่ทํากินในที่ดินรกร้างหรือที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ใด ๆ ของทางราชการ
    2. ที่ดินที่รัฐประกาศเขตทับซ้อนกับที่ดินของประชาชนที่ได้ใช้ทํากินมาแต่เดิม
4. เพื่อไทย8
  • ออกโฉนดให้กับประชาชน 50 ล้านไร่
  • ที่ดินที่เป็นโฉนดจะถูกใช้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน สู่สภาวะเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต
  • บูรณาการความร่วมมือเพื่อยุติความขัดแย้งและแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
  • เร่งรัดการพิสูจน์สิทธิเพื่อให้ได้มาซึ่งโฉนดอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ด้วยการใช้หลักฐานภาพถ่ายจากดาวเทียม และ/หรือหลักฐานอื่นที่เป็นที่ยอมรับ
  • นำที่ดินที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเพิ่มผลประโยชน์ให้ประชาชนด้วยการจัดที่ดินทำกิน เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความสมดุลของระบบนิเวศ เพิ่มปริมาณและคุณภาพของพื้นที่สีเขียวให้มีความอุดมสมบูรณ์และเพียงพอต่อความปลอดภัยทางด้านภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
5. ก้าวไกล9
  • ตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 ล้านบาท เพื่อยุติข้อพิพาทในการออกเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรและประชาชน 10 ล้านไร่ ภายใน 4 ปี ผ่านการพิสูจน์สิทธิโดยเพิ่มบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ช่วยในกระบวนการพิสูจน์สิทธิให้ประชาชน
  • ยกเครื่องกฎหมายที่ดิน 7 ฉบับ เพื่อไม่ให้มีการลิดรอนสิทธิในการครอบครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินดังกล่าวมาก่อน
  • ออกโฉนด ส.ป.ก. - นิคมสหกรณ์ ปลดล็อกที่ดิน ส.ป.ก. โดยการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม รวมถึงเร่งเปลี่ยนที่ดินนิคมสหกรณ์ทั่วประเทศ เป็นเอกสารสิทธิหรือโฉนดให้เกษตรกรและประชาชน
  • ตั้งธนาคารที่ดินเพื่อสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชน ผ่านการจำนองและรับซื้อที่ดิน บริหารจัดการที่ดินส่วนเกิน และกระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกรรายใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ
  • เปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน กระจายที่ดินออกจากมือนายทุน ผ่านการพัฒนาระบบภาษีที่ดินแปลงรวมและจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีรายแปลงเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยง และลดหย่อนหรือส่วนลดภาษีที่ดิน (Negative Land Tax) สำหรับพื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามระยะเวลาที่ตกลงร่วมกัน
6. ไทยสร้างไทย10
  • ให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดิน ส.ป.ก. ในกรณีชราภาพได้ โดย ส.ป.ก. จะพิจารณารับซื้อที่ดินในราคาที่เป็นธรรม เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายอื่นต่อไป
  • ที่ดิน คทช. ที่ดิน ภ.บ.ท.5 ของกรมป่าไม้ ให้มีการโอนอำนาจการจัดการที่ดินมาให้ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินการจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน และเป็นที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย
  • สร้างกติกาใหม่เพื่อให้สามารถนำที่ดิน ส.ป.ก. มาใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ ควบคู่กับการปลูกป่า ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยจัดและพัฒนาที่ดินในรูปแบบนิคมเกษตรกรรม การวางผังแบ่งแปลง ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบน้ำเพื่อการเกษตร และจัดแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ
7. ประชาชาติ11
  • แก้ปัญหาที่ดินทำกิน โดยผลักดันให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างน้อย 20 ไร่ ทำเกษตรผสมผสานที่มีความยั่งยืน
  • ปฏิรูปที่ดินผ่านกฎหมายภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
8. ชาติไทยพัฒนา
  • ส่งเสริมแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่ดินและน้ำสำหรับการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด12
  • สนับสนุนให้มีการจัดการพัฒนาและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม13
9. เสรีรวมไทย14
  • การคุ้มครองป้องกัน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ แร่ธาตุ ทะเล และชายฝั่งบนพื้นฐานของความสมดุลของธรรมชาติแบบยั่งยืน
  • ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยการส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
10. พลังธรรมใหม่15
  • โฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงภายใน 4 ปี
  • จัดการแผนที่ให้เป็นระบบเดียวกันทุกหน่วยงาน (One Map)
  • กันพื้นที่ป่าให้ชัดเจน และขับเคลื่อนการดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชนที่ทำกินอยู่นอกเขตป่าให้แล้วเสร็จ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดินราชพัสดุ เป็นต้น

ที่ผ่านมา คทช. ได้กำหนดให้มีนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) เพื่อเป็นกรอบนโยบายและทิศทางหลักในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอย่างบูรณาการ ในระยะ 15 ปี ประกอบด้วยประเด็นนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่ (1) การสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ (2) การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (3) การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และ (4) การบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ16

จากการสำรวจนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่เกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัญหาด้านที่ดินและทรัพยากรดินต่างได้รับความสนใจจากพรรคการเมืองต่าง ๆ และถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ โดยที่หลายนโยบายของหลายพรรคการเมืองมีความคล้ายคลึงกันในเชิงประเด็น แต่อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง ซึ่งแต่ละพรรคอาจมีมุมมองและแนวคิดที่เป็นจุดเน้นในการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เราพอได้เห็นทิศทางและแนวโน้มของนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่หลายพรรคการเมือง ต่างออกมานำเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกสะสมมาเป็นระยะเวลายาวนานผ่านนโยบายต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเพื่อให้ประชาชนและสาธารณะได้มีโอกาสศึกษา ขบคิด ถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อเป็นบทสนทนาของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย และเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจออกไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนในคูหาเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้


อ้างอิง

1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

3 มติชนออนไลน์. (2566). กกต.สรุปยอดสมัคร ส.ส.แบ่งเขต 4,781 คน จาก 70 พรรค ปาร์ตี้ลิสต์เฉียด 2 พัน. สืบค้นจากhttps://www.matichon.co.th/election66/news_3916908 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566.

4 เว็บไซต์พรรคพลังประชารัฐ. (2566). “พล.อ.ประวิตร” เปิดนโยบายบริหารจัดการที่ดินทำกิน-น้ำ ลั่น “มีลุง ไม่มีแล้ง” ยกเป็นวาระแห่งชาติเพื่อปชช.กินดีอยู่ดี วันศุกร์ 10 กุมภาพันธ์ 2566. สืบค้นจาก https://pprp.or.th/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%AD-A%E0%B8%B2%E0%B8%A2/. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

5 พีพีทีวี ออนไลน์. (2566). เลือกตั้ง 2566: พรรครวมไทยสร้างชาติ ดัน 13 นโยบาย ออกคลิปรัวผลงาน “บิ๊กตู่” วันอังคาร 21 มีนาคม 2566. สืบค้นจาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/192911 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

6 เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์. (2566). นโยบาย 10 ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี. สืบค้นจาก https://www.democrat.or.th/policy-10/ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

7 เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์. (2566). นโยบาย 11 ออกกรรมสิทธิ์ทํากิน ให้ผู้ทํากินในที่ดินของรัฐ. สืบค้นจาก https://www.democrat.or.th/policy-11/ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

8 เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย. (2566). นโยบายจัดทำกรรมสิทธิ์ที่ดิน. สืบค้นจาก https://ptp.or.th/%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a2%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%ab84%e0%b8%97%e0%b8%a2/land-ownership เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566.

9 เว็บไซต์พรรคก้าวไกล. (2566). ชุดนโยบายเกษตรไทยก้าวหน้า: กระดุม 5 เม็ด เปลี่ยนชีวิตเกษตรกรไทย. สืบค้นจาก https://www.moveforwardparty.org/article/policies/17234/ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566.

10 เว็บไซต์พรรคไทยสร้างไทย. (2566). นโยบายเกี่ยวกับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร. สืบค้นจาก https://thaisangthai.org/party-policy/%e0%b8%97%e0% b3%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%99- %b8%b2%e0%b8%a8%e0%b8%b1/ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566.

11 เว็บไซต์พรรคประชาชาติ. (2566). เชียร์สุดใจ! “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์ หนุนยกระดับรายได้ แก้ปัญหายากจน-ที่ดินทำกิน-ความเหลื่อมล้ำ วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566. สืบค้นจาก https://prachachat.org/press-release-2632301/ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

12 เว็บไซต์พรรคชาติไทยพัฒนา. (2566). นโยบายด้านการเกษตร. สืบค้นจาก https://www.chartthaipattana.or.th/policy/agriculture เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

13 เว็บไซต์พรรคชาติไทยพัฒนา. (2566). นโยบายด้านการเกษตร. สืบค้นจาก https://www.chartthaipattana.or.th/policy/natural เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

14 เว็บไซต์พรรคเสรีรวมไทย. (2566). นโยบายด้านพลังงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สืบค้นจาก https://sereeruamthai.or.th/?page_id=232https://sereeruamthai.or.th/?page_id=232 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

15 เว็บไซต์พีพีทีวี ออนไลน์ (2566). เปิดสูตรพิสดาร “พลังธรรมใหม่” ฝันใหญ่ เลือกตั้ง 2566 โกย 1.5 ล้านเสียง วันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566. สืบค้นจากhttps://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/192462 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566.

16 นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 32 ง (10 กุมภาพันธ์ 2566).


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint