ความสุขชุมชนมวลรวม (Gross Community Happiness, GCH) ผลสะท้อนการบริหารจัดการของ คทช. ภายใต้นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน

โดย นางสาวภัทรพร สอนบุญ1

นายวีระพงศ์ ดอกผึ้ง2

กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน กลุ่มงานติดตามประเมินผล

การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ที่อนุมัติหลักการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติกำหนด ในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม และเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งแถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 “ปรับปรุงระบบที่ดินทำกินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินโดยการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกร ตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้เร่งรัดขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและทำงานเชิงรุกในการบูรณาการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชน ซึ่งประชาชนจะได้รับการจัดที่ดินทำกินในที่ดินของรัฐที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ 6 ประเภท3 ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ และที่ดินสงวนเพื่อกิจการนิคมในนิคมสร้างตนเอง

พร้อมกันนี้ สคทช. ได้มีการพัฒนาตัวชี้วัดความสุขชุมชนมวลรวม (Gross Community Happiness, GCH) เพื่อเป็นเครื่องมือในการวัดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และให้เป็นส่วนหนึ่งของความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness, GNH) เป็นมิติใหม่ของการพัฒนา ที่มุ่งเน้นความอยู่เย็นเป็นสุขทางสังคมอันสืบเนื่องมาจากการมีที่ดินทำกินที่มีกฎหมายรองรับ และเป็นพื้นฐานสำคัญของการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดี มีสุข รวมทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นอกจากนี้ ตัวชี้วัดความสุขชุมชนมวลรวม (GCH) ที่พัฒนาขึ้นนี้ ยังสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาในเชิงคุณภาพ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตแบบองค์รวม มากกว่าการให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว โดยความสุขชุมชนมวลรวมจะให้ความสำคัญกับความสุขในมิติอื่น ๆ ของประชาชน ทั้งในเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ ครอบครัว ชุมชน การทำงาน ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนวัฒนธรรมประเพณี การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น4

การพัฒนาตัวชี้วัดความสุขชุมชนมวลรวม (GCH) ภายใต้นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน กำหนดตัวแปรที่ใช้ในการวัดความสุขชุมชนมวลรวมไว้ 5 ด้าน ได้แก่ (1) ความมั่นคงในที่ดินทำกิน/ที่อยู่อาศัย (2) การใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง (3) สภาพแวดล้อมของชุมชน (สาธารณูปโภคพื้นฐานของชุมชนในพื้นที่ คทช.) (4) การพัฒนาอาชีพและการส่งเสริมกระบวนการสหกรณ์ และ (5) รายได้และคุณภาพชีวิต โดยแบ่งการแปลผลระดับความสุขชุมชนมวลรวม ออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับมากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด ตามลำดับ

ภาพที่ 1: ระดับความสุขชุมชนมวลรวม 5 ระดับ
ที่มา : รายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) โครงการพัฒนาตัวชี้วัดความสุขชุมชนมวลรวม (Gross Community Happiness, GCH) ภายใต้นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน, หน้า 18

ผลการศึกษาภาพรวมความสุขชุมชนมวลรวม (GCH) ภายใต้นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน พบว่า ค่าคะแนนระดับความสุขอยู่ในระดับมากทุกพื้นที่และทุกด้าน เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านความมั่นคงในที่ดินทำกินเป็นด้านที่มีคะแนนระดับความสุขมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ด้านรายได้และคุณภาพชีวิต ด้านการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการพัฒนาอาชีพและการส่งเสริมกระบวนการสหกรณ์และด้านสภาพแวดล้อมของชุมชนตามลำดับ นอกจากนี้ จากผลการทดสอบความแตกต่างของความสุขชุมชนมวลรวมของประชาชน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ระหว่างชุมชนในพื้นที่ คทช. และชุมชนในพื้นที่เปรียบเทียบ (พื้นที่เป้าหมาย คทช. ที่อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน) พบว่า ทั้ง 2 พื้นที่ มีค่าเฉลี่ยความสุขชุมชนมวลรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพื้นที่ คทช. มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมากกว่าพื้นที่เป้าหมาย คทช. ที่อยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการ คทช. ในทุกด้าน แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีความพอใจและได้รับความสุขจากนโยบายการจัดที่ดินให้ชุมชนในภาพรวม และตัวแปรทั้ง 5 ด้าน ล้วนมีความสำคัญและส่งผลต่อความสุขชุมชนมวลรวมอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การสร้างความสุขแก่ประชาชน ภายใต้นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนควรดำเนินกิจกรรมทั้ง 5 ด้าน ไปพร้อมกัน

การวัดความสุขชุมชนมวลรวม (GCH) สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชาชนที่สะท้อนถึงการบริหารจัดการของ คทช. ภายใต้นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสุขของประชาชน และควรยกระดับตัวชี้วัดความสุขชุมชนมวลรวมภายใต้นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนขึ้นสู่ตัวชี้วัดระดับประเทศ และระดับโลก ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นตัวชี้วัดที่นำไปสู่การยกระดับการจัดอันดับประเทศไทย ในรายงาน World Happiness Report เท่านั้น แต่ตัวชี้วัดความสุขชุมชนมวลรวม ภายใต้นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนยังเป็นการแสดงต่อเวทีโลกว่า “ความสุขจากความมั่นคงในชีวิต ตามแนวทาง คทช. คือ รูปธรรมของการปฏิบัติที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสืบสาน รักษาและต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร ตามพระปฐมบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาสร้างความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชน และสร้างประโยชน์สุขแก่ประเทศในภาพรวม”


อ้างอิง

1นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

2นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

3ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2563

4สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). รายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร โครงการพัฒนาตัวชี้วัดความสุขชุมชนมวลรวม (Gross Community Happiness, GCH) ภายใต้นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน.


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2566

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint