ความก้าวหน้าตลอดระยะเวลา 2 ปี ของการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ...

โดย นายอนุวัตร จินตกสิกรรม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ

กองยุทธศาสตร์และแผน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. เป็นหน่วยงานระดับกรมสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ตามที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 25621 เพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อความยั่งยืน และส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยตามคำขวัญที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้สร้างการรับรู้ร่วมกับสังคมที่ว่า “สคทช. บริหารจัดการที่ดิน ประชาชนอยู่กินยั่งยืน”

สคทช. ถือเป็นหน่วยงานจัดตั้งขึ้นใหม่จากความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และเร่งรัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ผ่านการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของพี่น้องเกษตรกร รวมถึงป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในความครอบครองของนายทุนที่มิใช่เกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนประสบความสำเร็จและก้าวหน้ามาเป็นลำดับ2

นอกจากการดำเนินงานข้างต้นแล้ว สคทช. ยังมีภารกิจในการเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินของรัฐ รวมทั้งการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ3 โดยตลอดระยะเวลา 2 ปี แห่งการสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งและความหวังของประเทศชาติและประชาชน ในการเสริมสร้างความเป็นเอกภาพด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้การบูรณาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างแท้จริง4 ซึ่งที่ผ่านมา สคทช. สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและหุ้นส่วนความร่วมมือทุกภาคส่วน จนเกิดเป็นผลงานที่แสดงถึงความก้าวหน้า และบางส่วนเกิดเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ดังต่อไปนี้

  1. นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ

    คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้ความเห็นชอบนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) เพื่อเป็นกรอบนโยบาย และทิศทางหลักในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอย่างบูรณาการ ในระยะ 15 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และเป็นเชิงรุก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ รวมถึงสามารถสร้างความสมดุลและยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยประเด็นนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่ (1) การสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ (2) การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (3) การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และ (4) การบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ โดยมีทั้งหมด 19 ตัวชี้วัด 11 แนวทางการพัฒนาหลัก 17 แผนงานที่สำคัญ5

    นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแปลงนโยบายและแผนระยะ 15 ปี ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วข้างต้นไปสู่การปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินให้เป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี สคทช. จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2570) เสนอให้ คทช. พิจารณา และได้รับความเห็นชอบจาก คทช. เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 เพื่อเป็นแผนระยะปานกลาง สำหรับเป็นกรอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่กำหนดร่วมกันต่อไป6

    แผนภาพที่ 1: สาระสำคัญของนโยบายและแผนระยะ 15 ปี และแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี
  2. การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

    การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ที่ได้อนุมัติหลักการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวมโดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช. กำหนดในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการดำเนินงานผ่านคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด)

    ผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในภาพรวม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2565 สามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 1,491 พื้นที่ ใน 70 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 5,792,145 – 1 – 71.75 ไร่ ครอบคลุมที่ดินของรัฐ 9 ประเภท ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ นิคมสหกรณ์ (13 นิคม 14 ป่าสงวน) และที่ดินสงวนเพื่อกิจการนิคมในนิคมสร้างตนเอง ในจำนวนดังกล่าวสามารถจำแนกผลการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน ได้ดังนี้

    ตารางที่ 1: ผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มกราคม 2566)
    ที่มา: กลุ่มงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สคทช.

    ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สคทช. ให้ความสำคัญกับการสานพลังความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในหลากหลายมิติ เช่น การยกระดับให้สหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ คทช.7 การพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ที่เกี่ยวข้องภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 22 หน่วยงาน8 การพัฒนาตัวชี้วัดประเมินความสุขมวลรวมชุมชนในพื้นที่ คทช. (GCH) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวัดผลและปรับปรุงการดำเนินงานในมิติต่าง ๆ ได้แก่ ความมั่นคงของที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สภาพแวดล้อมของชุมชน (สาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่ คทช.) การพัฒนาอาชีพและการส่งเสริมกระบวนการสหกรณ์ และรายได้และคุณภาพชีวิต รวมถึงการมุ่งหาแนวทางการสร้างมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินสามารถนำเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินหรือหนังสือ/เอกสารให้ใช้ที่ดินที่ได้รับจากภาครัฐไปใช้เป็นหลักประกันการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการประกอบอาชีพได้9 เป็นต้น

  3. การพิสูจน์สิทธิเพื่ออำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนและรักษาผลประโยชน์สาธารณะ

    ภารกิจด้านนี้ของ สคทช. เป็นการดำเนินการตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ และเรื่องขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานอ่านภาพถ่ายทางอากาศ โดยดำเนินงานผ่านกลไกระดับคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) และคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ ด้วยการพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ยุติว่าประชาชนได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน แปลงพิพาทก่อนการเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามแนวทางที่เหมาะสม ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม10

    ผลการพิสูจน์สิทธิเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน มีเรื่องประชาชนโต้แย้งสิทธิเข้าสู่การพิจารณาของ คพร.จังหวัด จำนวน 11,468 ราย ในพื้นที่รวม 15,204 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 79,833 ไร่ โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้

    ตารางที่ 2: ผลการพิสูจน์สิทธิเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มกราคม 2566)
    ที่มา: กลุ่มงานนโยบายและประเมินผล กองที่ดินของรัฐ สคทช.
  4. การแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ

    สคทช. โดยคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ สามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาความทับซ้อนแนวเขตที่ดินของรัฐ โดยมีความคืบหน้าผลการดำเนินงานใน 3 กลุ่มจังหวัด ดังนี้

    กลุ่มจังหวัดที่ 1 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) พื้นที่กลุ่มที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี

    กลุ่มจังหวัดที่ 2 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) พื้นที่กลุ่มที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง) ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี

    กลุ่มจังหวัดที่ 3 คทช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 มีมติเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) พื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา (ยกเว้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ และ อุบลราชธานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

  5. การปรับปรุง แก้ไข และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ให้ความเห็นชอบการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ โดยมีผลการดำเนินงานและสาระสำคัญโดยสรุปดังตารางที่ 3

    ตารางที่ 3: ผลการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  6. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ

    สคทช. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินด้วยระบบข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเร่งดำเนินการใน 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อกำกับดูแลข้อมูลด้านที่ดินให้ได้มาตรฐานตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และจัดทำบัญชีข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (Land Accounting) การเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเครือข่ายข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดินภาครัฐ และพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับการวิเคราะห์และวางแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ และการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ โดยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

ในระยะต่อไป สคทช. ยังคงมุ่งมั่นและเดินหน้าเพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยการบูรณาการและสานพลัง ทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันยกระดับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศภายใต้กรอบทิศทางหลักเชิงนโยบายในระยะ 15 ปี และร่วมกันเดินหน้าประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อส่งต่อนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยทุกคนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง


อ้างอิง

1 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2564, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 11 ก (10 กุมภาพันธ์ 2564)

2 ปาฐกถาพิเศษของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เนื่องในงานสัมมนานโยบายการบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทย และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ภารกิจของ สคทช. ในวาระครบรอบ 1 ปี วันคล้ายวันสถาปนา สคทช. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2565 จาก https://siamrath.co.th/n/321709

3 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2564

4 พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 49 ก (14 เมษายน 2562)

5 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. (2566). นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) ฉบับรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

6 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. (2565). แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2570)

7 ปาริชาติ อินสว่าง. (2566). การยกระดับ – ปรับเปลี่ยน: จากผู้ว่าฯ: สู่ สหกรณ์ ในพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบาย คทช.

8 กัญญารัตน์ บุญนำ และเจนจิรา เกษสกุล. (2566). ยกระดับความร่วมมือในพื้นที่ คทช. เพื่อประชาชนอยู่กินยั่งยืน

9 อณุภรณ์ วรรณวิเศษ. (2566). สคทช. กับแนวทางการสร้างมูลค่าที่ดินของรัฐ เพื่อจัดการปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

10 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). คู่มือการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ฉบับประชาชน, หน้า 4 – 8


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint