การยกระดับ – ปรับเปลี่ยน : จากผู้ว่าฯ สู่สหกรณ์ ในพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบาย คทช. ...

โดย นางสาวปาริชาติ อินสว่าง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ

การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยการยื่นขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ยื่นขออนุญาตและรับการอนุญาตดังกล่าว1 ซึ่งภายหลังจากที่ได้มีการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนแล้ว คทช. ยังมีแนวทางในการขับเคลื่อนการยกระดับ ให้สหกรณ์สามารถเป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ คทช. ด้วยการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นส่งเสริมการรวมกลุ่มของชุมชนที่เข้มแข็งในลักษณะสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกรที่จะสามารถรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาชุมชนสร้างความเข้มแข็ง ให้สามารถพึ่งตนเองได้และนำไปสู่การบริหารจัดที่ดินของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้เริ่มขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้รับอนุญาตจากเดิมที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกร โดยเริ่มต้นจากการประชุมหารือเพื่อยกระดับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการยกระดับสหกรณ์เป็นผู้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) สามารถดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขแนวทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 25072 และกรมส่งเสริมสหกรณ์มีการประเมินความเข้มแข็งในการบริหารจัดการของสหกรณ์และนำแนวทางการประเมินของกรมส่งเสริมสหกรณ์มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายของ คทช. โดยมอบหมายให้กรมป่าไม้จัดทำรายละเอียดขั้นตอนการขออนุญาต กรณีสหกรณ์เป็นผู้ขออนุญาตต่อจากผู้ว่าราชการจังหวัด และให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์ เพื่อเสนอ คทช. พิจารณาต่อไป โดยทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว ได้ดำเนินการดังนี้

  1. กรมป่าไม้ได้จัดทำระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 25653 โดยกำหนดว่า การขออนุญาตเพื่อการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ เป็นผู้ยื่นคำขอ รวมทั้งการเปลี่ยนผู้รับอนุญาต ให้ยื่นคำขอเพื่อให้จังหวัดท้องที่หรือหน่วยงานที่อธิบดีกำหนดสั่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการตรวจสภาพพื้นที่ให้ได้ข้อมูลปัจจุบัน พร้อมกับตรวจสอบการดำเนินการของผู้รับอนุญาตรายเดิมว่า ได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ แล้วให้พิจารณาและจัดทำความเห็นเสนออธิบดีเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยให้ออกหนังสืออนุญาตฉบับใหม่มีอายุเท่าที่เหลืออยู่ของหนังสืออนุญาตเดิม
  2. กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์ ดังนี้
    1. เกณฑ์มาตรฐานสหกรณ์4 จำนวน 7 ข้อ ประกอบด้วย
      1. ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์มีผลการดำเนินงานไม่ขาดทุน เว้นแต่ปีใดมีอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติจนเกิดความเสียหายต่อสมาชิก และสหกรณ์โดยรวมให้ตัดปีนั้นออก
      2. ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง ไม่มีการกระทำอันถือได้ว่าทุจริตต่อสหกรณ์
      3. ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์จัดทำงบการเงินแล้วเสร็จ และส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
      4. ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกทั้งหมดร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์
      5. ผลการบริหารจัดการสหกรณ์ ต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำเพื่อดำเนินกิจการและธุรกิจของสหกรณ์ หากไม่มีจัดจ้างต้องมีกรรมการดำเนินการ หรือสมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำ
      6. ผลการดำเนินการในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์ต้องมีการจัดสรรกำไรสุทธิ และจ่ายทุนสวัสดิการสมาชิก หรือทุนสาธารณประโยชน์ อย่างน้อย 1 ครั้ง
      7. ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์
    2. เกณฑ์มาตรฐานกลุ่มเกษตรกร5 จำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย
      1. คณะกรรมการดำเนินการจัดให้มีการทำงบดุลรอบ 12 เดือน แล้วเสร็จ และจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบได้ภายใน 150 วัน ตามกฎหมายแนวทางการพัฒนาสหกรณ์และเกษตรกรสู่มาตรฐานกรมส่งเสริมสหกรณ์
      2. ไม่มีข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับรายการข้อบกพร่องทางการเงินและบัญชีอย่างร้ายแรง
      3. มีการทำธุรกิจหรือการบริการอย่างน้อย 1 ชนิด
      4. มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายในกำหนดเวลา 150 วัน เว้นแต่มีภัยธรรมชาติจนเกิดความเสียหายต่อสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรโดยรวม
      5. มีกำไรสุทธิประจำปีและมีการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีตามกฎหมาย เว้นแต่มีภัยธรรมชาติ จนเกิดความเสียหายต่อสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรโดยรวม

ต่อมา สคทช. ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยปรับเปลี่ยนให้ผู้ขอใช้ประโยชน์การอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร ต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขแนวทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และแนวทางการประเมินความเข้มแข็งการบริหารจัดการของสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยเสนอผ่านคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) เพื่อให้ความเห็นชอบการขอเปลี่ยนผู้ขอใช้ประโยชน์ และเสนอไปยังกรมป่าไม้เพื่อดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงมีมติเห็นชอบกับหลักการปรับเปลี่ยนให้ผู้ขอใช้ประโยชน์การอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตร ที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์และปฏิบัติตามภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดการใช้ที่ดินและแนวทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และการชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยมีขั้นตอนการยกระดับสหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ดังนี้

  1. กรมป่าไม้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ขออนุญาต)
  2. คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการรวมกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน
  3. กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับ คทช.จังหวัด ประเมินความเข้มแข็งของกลุ่มสหกรณ์ที่มีความพร้อมตามหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์
    1. กรณีไม่ผ่านการประเมิน จะต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและกลุ่มสหกรณ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็ง เพื่อที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และ คทช.จังหวัด จะได้ประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์ต่อไป
    2. กรณีผ่านการประเมิน จะดำเนินการดังนี้
      1. เสนอเรื่องในการประชุมคณะกรรมการสหกรณ์และการประชุมใหญ่ประจำปีของสหกรณ์
      2. คทช.จังหวัด พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับเปลี่ยนผู้ขอใช้ประโยชน์ การอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ และแจ้ง สคทช. เพื่อรายงาน คทช. ทราบต่อไป
      3. กลุ่มสหกรณ์ยื่นขอหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ในพื้นที่ คทช. ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งขอยกเลิก พร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งขอยกเลิกผู้ได้รับอนุญาตกับกรมป่าไม้
      4. กรมป่าไม้ออกหนังสืออนุญาตฉบับใหม่ให้กลุ่มสหกรณ์และจัดเก็บค่าธรรมเนียมกรมป่าไม้และกรมส่งเสริมสหกรณ์พิจารณากำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และขั้นตอนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และแจ้ง สคทช. เพื่อรายงาน คทช. ทราบต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากที่ คทช. เห็นชอบในหลักการการปรับเปลี่ยนให้ผู้ขอใช้ประโยชน์การอยู่อาศัยและทำกินในป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร แล้ว สคทช. ได้มีการกำหนดพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนการยกระดับสหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของ คทช. คือ สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งของกลุ่มสหกรณ์และผ่านการประเมินมาตรฐานของสหกรณ์ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนดไว้ โดยหากสหกรณ์ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนให้ผู้ขอใช้ประโยชน์ การอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ดังกล่าวได้สำเร็จ ก็จะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการขยายผลการยกระดับสหกรณ์ให้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของ คทช. ได้ต่อไป

แผนภาพที่ 1: ขั้นตอนการยกระดับสหกรณ์เป็นผู้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ในพื้นที่ดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)

อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการรวมกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ควรร่วมมือกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ และส่งเสริมการรวมกลุ่มของชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร อย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์อันจะนำไปสู่ “การยกระดับปรับเปลี่ยน จากผู้ว่าฯ สู่ สหกรณ์ ในพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบาย คทช.” ได้อย่างแท้จริง


อ้างอิง

1 รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559

2 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที่ 46 ก (24 พฤษภาคม 2559)

3 ระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 , ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 118 ง (26 พฤษภาคม 2565)

4 ประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดมาตรฐานสหกรณ์ (2 กุมภาพันธ์ 2564).

5 ประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดมาตรฐานกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2560 (16 ธันวาคม 2559).


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint