หลักการพิจารณาพยานหลักฐานตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ (กรณีราษฎรใช้หลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)) ...

โดย นางสาวณัฐภา มากขุน

กองที่ดินของรัฐ กลุ่มงานประสานการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ 1

การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) ตามมาตรการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ข้อ 1.3 กรณีราษฎรใช้หลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งในที่นี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ส.ค.1 คือ ใบแจ้งการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นหลักฐานว่าผู้ครอบครองเป็นผู้แจ้งว่าตนครอบครองที่ดินแปลงใดอยู่ ส.ค.1 ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เพราะไม่ใช่หลักฐานที่ทางราชการออกให้ เพียงแต่เป็นการแจ้งการครอบครองที่ดินของราษฎรเท่านั้น โดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 บัญญัติว่า “ให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (1 ธันวาคม 2497) โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอําเภอท้องที่ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกําหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการแจ้งการครอบครองตามความในมาตรานี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด”

โดยผู้ครอบครอง ส.ค.1 สามารถนํามาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3 ข.) ได้ 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1 นํามาเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินตามโครงการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ กรณีนี้ทางราชการจะเป็นผู้ออกให้เป็นท้องที่ไป โดยจะมีการประกาศให้ทราบก่อนล่วงหน้า

กรณีที่ 2 นํามาเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3 ข.) เฉพาะราย คือ กรณีที่เจ้าของที่ดินมีความประสงค์จะขอออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ก็ให้ไปยื่นคําขอ ณ สํานักงานที่ดินซึ่งที่ดินตั้งอยู่

ในปัจจุบันไม่มีการแจ้ง ส.ค.1 แล้ว และกรมที่ดินได้มีการประกาศยกเลิก ส.ค.1 โดยให้เวลาดําเนินการสองปี นับตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ได้กําหนดให้ผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยมีหลักฐาน ส.ค.1 และยังมิได้ยื่นคําขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ให้นําหลักฐาน ส.ค.1 มายื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (6 กุมภาพันธ์ 2553) และเมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าว หากมีผู้นําหลักฐาน ส.ค.1 มาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ให้ได้ก็ต่อเมื่อศาลยุติธรรมได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดว่า ผู้นั้นเป็นผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ในการพิจารณาคดีของศาล ให้ศาลแจ้งให้กรมที่ดินทราบ และให้กรมที่ดินตรวจสอบกับระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศหรือระวางรูปถ่ายทางอากาศฉบับที่ทําขึ้นก่อนสุดเท่าที่ทางราชการมีอยู่ พร้อมทั้งทําความเห็นเสนอต่อศาลว่าผู้นั้นได้ครอบครองหรือทําประโยชน์ในที่ดินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับหรือไม่เพื่อประกอบการพิจารณาของศาล ความเห็นดังกล่าวให้เสนอต่อศาลภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งจากศาล เว้นแต่ศาลจะขยายระยะเวลาเป็นอย่างอื่น

องค์ประกอบของที่ดินที่จะนํามาแจ้ง ส.ค.1 มีดังนี้

  1. ผู้แจ้งจะต้องได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินแล้ว
  2. การครอบครองและการทําประโยชน์จะต้องมีมาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือ ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497
  3. ที่ดินที่นํามาแจ้งนั้นจะต้องยังไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน กล่าวคือ ยังไม่มีโฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง หรือตราจองที่ตราว่า “ได้ทําประโยชน์แล้ว”
  4. การแจ้งจะต้องแจ้งภายในกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2497 ถ้าไม่แจ้งถือว่าเจตนาสละสิทธิครอบครองที่ดิน เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีคําสั่งผ่อนผันให้เป็นการเฉพาะราย

ทั้งนี้ ในการจะพิจารณาว่าหลักฐาน ส.ค.1 มีส่วนสนับสนุนคํากล่าวอ้างว่ามีการครอบครองทําประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ ต้องตรวจสอบรายละเอียดการได้มาซึ่งที่ดินในหลักฐาน ส.ค.1 ว่าได้มาอย่างไร ตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ

กรณีที่ 1 กรณีหลักฐาน ส.ค.1 แจ้งว่า สับสร้าง ก่นสร้าง หรือครอบครองทำประโยชน์ก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ เช่น ระบุว่า สับสร้างเอง เมื่อ พ.ศ. 2480 และที่ดินแปลงนี้อยู่ในเขตที่ดินของรัฐ โดยมีสถานะการเป็นที่ดินของรัฐครั้งแรก คือ เขต พ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินฯ จังหวัดนครนายก พ.ศ. 2484 ก็จะสามารถส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศดำเนินการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ ตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิฯ ข้อ 1.3 โดยที่ประชุม คพร.จังหวัด พิจารณาแล้วมีมติเชื่อว่าราษฎรครอบครองมาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐเฉพาะส่วนที่มีร่องรอยการทำประโยชน์ตามผลการอ่านภาพถ่ายทางอากาศพร้อมแจ้งผลให้ราษฎรเจ้าของที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

กรณีที่ 2 กรณีหลักฐาน ส.ค.1 แจ้งว่า รับมรดกหรือรับให้ภายหลังการเป็นที่ดินของรัฐ แต่เป็นการครอบครองต่อเนื่องจากบุคคลอื่น เช่น ระบุว่า บิดายกให้เมื่อ พ.ศ. 2488 และที่ดินนี้อยู่ในเขตที่ดินของรัฐ โดยมีสถานะการเป็นที่ดินของรัฐครั้งแรก คือ เขต พ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินฯ จังหวัดนครนายก พ.ศ. 2484 จึงต้องมีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ยุติว่า การรับให้ดังกล่าว ผู้ที่ครอบครองที่ดินครั้งแรกก่อนจะมีการยกที่ดินให้ได้ครอบครองมาก่อนการมีสถานะเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ โดยการสอบสวนพยานบุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ทราบข้อมูลการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ขอพิสูจน์สิทธิเป็นอย่างดี อาจเป็นได้ทั้งประจักษ์พยาน คือ พยานบุคคลที่รู้เห็นหรือจำความได้ตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไปว่ามีการครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือพยานบอกเล่า ซึ่งได้รับฟังคำบอกเล่าต่อจากบุคคลที่รู้เห็นว่ามีการครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ที่ขอพิสูจน์สิทธิหรือใกล้เคียงมาโดยตลอดและได้รับการรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือท้องที่ หากผลการสอบสวนพยานบุคคลสนับสนุนว่ามีการครอบครองมาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ ก็สามารถส่งอ่านภาพถ่ายทางอากาศตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิฯ ข้อ 1.3 ได้ โดย คพร.จังหวัด มีมติเชื่อว่าราษฎรครอบครองมาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐเฉพาะส่วนที่มีร่องรอยการทำประโยชน์ตามผลการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ พร้อมแจ้งผลให้เจ้าของที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป แต่หากสอบสวนข้อเท็จจริงได้ข้อยุติแล้วว่าผู้ที่ครอบครองที่ดินครั้งแรกก่อนจะมีการยกที่ดินให้ครอบครองมาภายหลังการมีสถานะการเป็นที่ดินของรัฐจะไม่สามารถส่งอ่านภาพถ่ายทางอากาศตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิฯ ข้อ 1.3 ได้ รวมทั้งไม่สามารถนําหลักฐาน ส.ค.1 ดังกล่าวมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ โดย คพร.จังหวัด มีมติเชื่อว่าราษฎรครอบครองมาภายหลังการเป็นที่ดินของรัฐ พร้อมแจ้งผลให้ราษฎรเจ้าของที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

กรณีที่ 3 กรณีหลักฐาน ส.ค.1 แจ้งว่า สับสร้าง ก่นสร้างหรือครอบครองทำประโยชน์ภายหลังการเป็นที่ดินของรัฐ เช่น ระบุว่า ก่นสร้างด้วยตนเอง เมื่อ พ.ศ. 2490 และที่ดินนี้อยู่ในเขต พ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินฯ จังหวัดนครนายก พ.ศ. 2484 จะไม่สามารถส่งอ่านภาพถ่ายทางอากาศ ตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิฯ ข้อ 1.3 ได้ รวมทั้งไม่สามารถนําหลักฐาน ส.ค.1 ดังกล่าวมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ โดย คพร.จังหวัด มีมติเชื่อว่า ราษฎรครอบครองมาภายหลังการเป็นที่ดินของรัฐ พร้อมแจ้งผลให้ราษฎรเจ้าของที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นอกจากรายละเอียดการได้มาซึ่งที่ดินในหลักฐาน ส.ค.1 ว่าได้มาอย่างไร ตั้งแต่เมื่อใดแล้ว ยังต้องมีการตรวจสอบหลักฐานประกอบเพิ่มเติม ดังนี้

  1. สำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
    1. เอกสารดังกล่าวต้องมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญชัดเจน เช่น เลขที่ ส.ค.1 ข้อความที่ระบุการได้มา และปี พ.ศ. ที่ได้มา เป็นต้น
    2. เอกสารดังกล่าวต้องไม่มีการแก้ไขข้อความที่เป็นสาระสำคัญ หากมีการแก้ไขต้องมีการรับรองหรือยืนยันการแก้ไขนั้นจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
    3. เป็นการแจ้งการครอบครองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 เว้นแต่เป็นกรณีที่ขอผ่อนผันการแจ้ง การครอบครองที่ดินตามมาตรา 27 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
  2. สำเนาทะเบียนการครอบครองที่ดิน
  3. หนังสือสำนักงานที่ดินที่ตรวจสอบและยืนยันว่า ส.ค.1 ที่นำมาเป็นหลักฐานดังกล่าวถูกต้องและตรงตามตำแหน่งที่ดินที่ขอพิสูจน์สิทธิ
  4. หนังสือสำนักงานที่ดินที่ยืนยันว่า ส.ค.1 ที่นำมาเป็นหลักฐานดังกล่าวมีความถูกต้องและสำเนามาจากต้นฉบับจริง
  5. บันทึกถ้อยคำพยานบุคคล เฉพาะกรณีที่ไม่แน่ชัดตามพยานเอกสาร ส.ค.1 ว่ามีการครอบครองมาก่อนหรือหลังการเป็นที่ดินของรัฐ เช่น ที่ดินเป็นที่หวงห้ามตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินฯ พ.ศ. 2484 จังหวัดนครนายก ผู้ขอพิสูจน์สิทธิอ้างพยานเอกสาร ส.ค.1 ระบุการได้มาว่ารับมรดกมาจากบิดามารดา เมื่อปี พ.ศ. 2485 ซึ่งไม่แน่ชัดว่าบิดามารดาของผู้ขอพิสูจน์สิทธิได้ครอบครอง มาตั้งแต่เมื่อใดระหว่างก่อนหรือหลังการเป็นที่หวงห้าม หรือ ส.ค.1 ระบุการได้มาว่าซื้อมาจากนาย ก. เมื่อปี พ.ศ. 2490 เป็นต้น

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการพิสูจน์สิทธิฯ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งสิทธิในที่ดิน ระหว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา คุ้มครอง ป้องกัน หรือใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐด้วยวิธีการพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ยุติว่า ประชาชนได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทมาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ ซึ่งตามมาตรการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ข้อ 1.3 กรณีที่ใช้พยานหลักฐาน ส.ค.1 เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานนั้นมีส่วนสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่า มีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐให้ดำเนินการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารที่ถ่ายภาพพื้นที่นั้นไว้เป็นครั้งแรกหลังจากเป็นที่ดินของรัฐ หากปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ในภาพถ่ายทางอากาศ จึงจะเชื่อว่าราษฎรได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐตามผลการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ


เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). คู่มือการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ (ฉบับประชาชน). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา.


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint