หลักการพิจารณาพยานหลักฐานตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ (กรณีราษฎรใช้หลักฐานใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม)) ...

โดย นางยุพา คำมา

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ
กองที่ดินของรัฐ กลุ่มงานประสานการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ 2

การพิจารณาพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎรในเขตที่ดินของรัฐของคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) ตามมาตรการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดิน ของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ข้อ 1.1 กล่าวคือ “เอกสารที่ทางราชการทำขึ้นและพิสูจน์ได้ว่าเป็นเอกสารซึ่งลงวันที่ก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ” เช่น ใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม) ระวางเดินสำรวจ ร.ศ. (ระวางศูนย์กำเนิดรัตนโกสินทร์ศก) หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินที่ทำขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอ เป็นต้น

ใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม) คือ บันทึกการสอบสวนที่ดินก่อนออกโฉนดที่ดิน ตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ซึ่งใช้บังคับก่อนการใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 โดยมีข้อความระบุตำแหน่งที่ดิน ตำบล อำเภอ ชื่อเจ้าของที่ดิน จำนวนเนื้อที่ ชื่อเจ้าของที่ดินทั้ง 4 ทิศ การได้ที่ดินว่าได้มาอย่างไร เมื่อใด มีหลักฐานใด ซึ่งใบไต่สวนเดิมเป็นพยานเอกสารที่แสดงว่า ผู้มีชื่อในใบไต่สวนนำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงนั้น ๆ แล้ว ใบไต่สวนเดิมมิใช่เอกสารสิทธิ แต่เป็นพยานเอกสารที่แสดงเจตนาถือครองที่ดิน จะออกให้ต่อเมื่อบุคคลมานำรังวัดโฉนดที่ดิน ทั้งนี้ ใบไต่สวนเดิมกรมที่ดินโดยสำนักงานที่ดินจังหวัดเป็นผู้จัดทำ ซึ่งจะออกให้กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเจ้าของที่ดินเพื่อที่จะให้ได้หลักฐานว่า ผู้มีชื่อในใบไต่สวนนั้นเป็นเจ้าของที่ดินจริง สมควรที่จะได้รับโฉนดที่ดินไปเป็นกรรมสิทธิ์ต่อไป

หลักฐานใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม) ซึ่งราษฎรใช้เป็นหลักฐานประกอบคำขอออกโฉนดที่ดินในเขตที่ดินของรัฐ คพร.จังหวัด หลายแห่ง ได้มีการพิจารณาหลักฐานดังกล่าวเพื่อประกอบการพิสูจน์สิทธิฯ ให้แก่ราษฎรจำนวนหลายราย เนื่องจากใบไต่สวนเดิมเป็นเอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้น จึงเป็นพยานที่มีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือ เมื่อ คพร.จังหวัด พิจารณาแล้วเห็นว่า ใบไต่สวนเดิมมีส่วนสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่า มีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ คพร.จังหวัด จักต้องแจ้งผลการพิสูจน์สิทธิฯ ดังกล่าวให้ราษฎรที่ขอออกโฉนดที่ดินทราบภายในกำหนด 30 วันทำการ และให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. กรณีหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเห็นด้วยกับมติของ คพร.จังหวัด ให้แจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อไป
  2. กรณีที่หน่วยงานของรัฐดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับมติ คพร.จังหวัด ให้พิจารณาดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ตัวอย่าง

คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัดนครสวรรค์ (คพร.จังหวัดนครสวรรค์) ได้พิจารณากรณีราษฎรขอออกโฉนดที่ดินในที่ราชพัสดุตามเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินอำเภอปากน้ำโพ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ พุทธศักราช 2479 รายนางสาว ก. โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้

  1. นางสาว ก. ขอออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยหลักฐานใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม) เล่ม 60ง น่า 330 เลขที่ 60 ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ออกให้แก่ นายแดง-นางดำ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2470 ระบุการได้ที่ดินมาว่า บิดามารดายกให้ประมาณ 10 ปี (ประมาณปี พ.ศ. 2460) จำนวนเนื้อที่ 1-1-65 ไร่
    รูปภาพตัวอย่างใบใต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบใต่สวนเดิม)
  2. เดิมที่ดินแปลงพิพาทเป็นของนายแดง-นางดำ ซึ่งเคยนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งตำบลไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2470 ตามหลักฐานใบไต่สวนเล่ม 60ง น่า 330 เลขที่ 60 แต่มิได้รับโฉนดที่ดินภายใน 10 ปี ต่อมาปี พ.ศ. 2490 นายแดงเสียชีวิต และเมื่อปี พ.ศ. 2498 นางดำได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ในนามตนเอง เลขที่ 6 ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ระบุการได้มาว่าบิดามารดายกให้เมื่อประมาณ 38 ปี (ประมาณปี พ.ศ. 2460) ต่อมานางดำเสียชีวิต นางสาว ก. เข้ารับมรดก
  3. ช่างรังวัดของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาพยุหะคีรี ได้ตรวจสอบตำแหน่งรูปแปลงที่ดินที่ขอออกโฉนดกับระวางศูนย์กำเนิดเดิม ปรากฏว่าอยู่ใบไต่สวนเดิม เล่ม 60ง น่า 330 เลขที่ 60 ทั้งแปลง

คพร.จังหวัดนครสวรรค์ พิจารณาเอกสารหลักฐานแล้วเห็นว่า ราษฎรรายดังกล่าวขอออกโฉนดที่ดินโดยมีใบไต่สวนเดิม ที่ออกเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2470 ซึ่งเป็นเอกสารที่ทางราชการทำขึ้นและพิสูจน์ได้ว่าเป็นเอกสารซึ่งลงวันที่ก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ (ปี พ.ศ. 2479) ตามมาตรการของ คทช. เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ข้อ 1.1 จึงมีมติน่าเชื่อว่า ที่ดินแปลงพิพาทครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ และได้แจ้งผลการพิสูจน์สิทธิฯ ดังกล่าว ให้บุคคลที่ครอบครองที่ดินทราบภายในกำหนด 30 วันทำการ พร้อมทั้งแจ้งให้กรมธนารักษ์ ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ราชพัสดุดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการพิสูจน์สิทธิฯ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท หรือข้อโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างราษฎรและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา คุ้มครอง ป้องกัน หรือใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ด้วยวิธีการพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ยุติว่าราษฎรได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทมาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ ซึ่งตามมาตรการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ข้อ 1.1 กรณีราษฎรใช้หลักฐานใบไต่สวนในการเดินสำรวจหมายเขตต์ที่ดินเพื่อออกโฉนด (ใบไต่สวนเดิม) เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานนั้นมีส่วนสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่ามีการครอบครอง ทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ คพร.จังหวัด จักต้องแจ้งผลการพิสูจน์สิทธิฯ ดังกล่าวให้บุคคลที่ครอบครองที่ดินทราบภายในกำหนด 30 วันทำการ และให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐดำเนินการต่อไป โดยมิต้องส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ พิจารณารับดำเนินการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศเพื่อหาร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด


เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). คู่มือการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ (ฉบับประชาชน). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจา- นุเบกษา.


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint