โดย นางสาวสุฑาทิพย์ จันทร์ศักดา

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานนโยบายและแผน

“ดัชนีชี้วัด”นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการประเมินผลสถานการณ์ ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพ และระดับความสำเร็จของการดำเนินงานว่าบรรลุตามค่าเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ผ่านการประเมินผลที่ชัดเจน ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการนำดัชนีชี้วัดมาใช้เพื่อบ่งชี้สถานการณ์การดำเนินงานในหลายด้าน เช่น ดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) และดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index: EPI) เป็นต้น อย่างไรก็ตามดัชนีชี้วัดด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรดินยังไม่ได้มีการกำหนดให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ หากสามารถกำหนดดัชนีชี้วัดที่สะท้อนสถานการณ์ในภาพรวมจะทำให้ทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาและเป็นกรอบทิศทางในการชี้นำการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน อนุรักษ์ และคุ้มครองทรัพยากรดินสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสอดประสานการดำเนินการร่วมกันในการสร้างความยั่งยืนด้านที่ดินและทรัพยากรดิน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จึงได้มีการดำเนินการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Land & Soil Sustainability Index: LSSI) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562ตามมาตรา 10 (2) และ (3) ในการกำหนดมาตรการในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ และการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพที่ดินและศักยภาพที่ดิน1 รวมทั้งเป็นการดำเนินการภายใต้กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2564 ในข้อ 9 (4) ที่กำหนดให้กองยุทธศาสตร์และแผนงานมีหน้าที่ในการวิเคราะห์และพัฒนาเกณฑ์หรือดัชนีชี้วัดผลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในมิติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน2 โดยการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีเป้าหมายในการจัดทำดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินในระดับมหภาคที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นการสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินสถานการณ์และแนวโน้มความยั่งยืนด้านที่ดินและทรัพยากรดินในอนาคต ตลอดจนเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการทบทวน ปรับปรุง จัดลำดับความสำคัญ และกำหนดนโยบายและแผน แนวทางขับเคลื่อน เครื่องมือ กลไก และแผนงานด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ3

การดำเนินการเพื่อให้ได้ดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินที่เหมาะสม สามารถใช้งานได้จริง และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีกระบวนการรวมทั้งสิ้น 16 ขั้นตอน (ตามแผนภาพที่ 1) โดยสามารถสรุปเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ 1) การทบทวนแผนทั้ง 3 ระดับ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในระดับสากล 2) การนำข้อมูลที่ได้จากการทบทวนมาใช้ประกอบการยกร่างตัวชี้วัดที่ครอบคลุม ทั้งในมิติการใช้ประโยชน์ที่ดินและมิติทรัพยากรดิน และ 3) การจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงความเป็นไปได้ในบริบทของประเทศไทย และเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของรายการข้อมูลที่จะมีการจัดเก็บจากหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องในการจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน โดยนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายของประเด็นนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580)4 เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวชี้วัดสุดท้ายที่เกิดการยอมรับร่วมกันในรายละเอียดของตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก และค่าเป้าหมาย รวมถึงรายการชุดข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ภายใต้ตัวชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินด้วย

แผนภาพที่ 1 ขั้นตอนการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, หน้า 5 - 7

ดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด 2 มิติหลัก (Dimension) ได้แก่ มิติความยั่งยืนของการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Sustainability: LUS) และมิติความยั่งยืนของทรัพยากรดิน (Soil Resources Sustainability: SRS) ซึ่งกำหนดประเด็นที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของความยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ในแต่ละมิติ ผ่านเสาหลัก (Pillar) จำนวน 7 เสาหลัก กล่าวคือ ภายใต้มิติหลักที่ 1 มิติความยั่งยืนของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ (1) ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) การกำกับดูแลที่ดี (3) การสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และ (4) การเพิ่มผลิตภาพ และภายใต้มิติหลักที่ 2 มิติความยั่งยืนของทรัพยากรดิน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) การลดความเสื่อมโทรม (2) การเพิ่มคุณภาพดิน และ (3) การจัดการเพื่อความยั่งยืน โดยดำเนินการประเมินผ่านตัวชี้วัดสำคัญที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมจำนวน 20 ตัวชี้วัดหลัก (ตามแผนภาพที่ 2) ซึ่งประกอบด้วย 87 รายการชุดข้อมูลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณากำหนดเกณฑ์การประเมินที่มีความสอดคล้อง (Relevance) และเชื่อมโยงสนับสนุนกัน (Coherence) โดยประกอบด้วยเกณฑ์หลัก คือ เกณฑ์ประสิทธิผล (Effectiveness) ที่สามารถนำมาใช้วัดได้ทั้งในระดับผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) รวมทั้งเกณฑ์ผลกระทบ (Impact) ที่เกิดจากการพัฒนาหรือการริเริ่มต่าง ๆ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

แผนภาพที่ 2 มิติ เสาหลัก และตัวชี้วัดภายใต้ดัชนีชี้วัดด้านที่ดินเละทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, หน้า 10 - 16

การกำหนดแนวทางการวัดภายใต้ดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินไม่ได้มีเป้าหมายที่จะตัดสินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องในการจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน แต่มีเป้าหมายเพื่อการรายงานสถานการณ์การจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งดัชนีชี้วัดในแต่ละรายการจะเป็นการวัดแบบผสม (Composite Measure) ที่สามารถแยกและวิเคราะห์ได้อย่างอิสระ ผ่านการเปรียบเทียบสถานการณ์การจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในปีที่ทำการประเมินผล เปรียบเทียบกับค่าอ้างอิงในปีที่ถูกกำหนดให้เป็นปีฐาน (Baseline) และเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปีก่อนหน้า โดยมีเป้าหมายให้สถานการณ์ด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรดินดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บนกรอบยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านแนวทางการจัดเก็บชุดข้อมูลตามตัวชี้วัดภายใต้เสาหลักดัชนีชี้วัดดังกล่าวเป็นการดำเนินการในระยะเริ่มต้น ซึ่งยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้มีความสมบูรณ์และถูกต้องบนหลักวิชาการต่อไป โดย สคทช. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนระดับความก้าวหน้าของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจประกอบการทบทวน ปรับปรุง และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน เครื่องมือและกลไกด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน


1 พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 49 ก (14 เมษายน 2562).

2 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2564, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 54 ก (27 สิงหาคม 2564).

3 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน.

4 นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนพิเศษ 32 ง (10 กุมภาพันธ์ 2566).


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint