โดย นายอนุวัตร จินตกสิกรรม1

นางสาวพัทธนันท์ คล้ายกระแส2

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มงานวิจัยและวิเคราะห์มาตรการ

“ดิน”3 เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และสรรพชีวิตบนพื้นผิวโลก ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดิน อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม การใช้ทรัพยากรดินเพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ส่งผลให้ทรัพยากรดินเกิดปัญหาและความเสื่อมโทรมลง เช่น ปัญหาดินขาดอินทรียวัตถุ ขาดความอุดมสมบูรณ์ การชะล้างพังทลายของดินจากการใช้ประโยชน์ที่ไม่เหมาะสม และการปนเปื้อนของดินเนื่องจากเป็นแหล่งรองรับสิ่งปฏิกูล ที่เกิดจากภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน เป็นต้น4 ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบเป็นปัญหาย้อนกลับต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ทำให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินเป็นไป อย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศไทยที่ภาคเกษตรมีขนาดใหญ่ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรดินย่อมส่งผลกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้างต่อภาคเกษตรและเกษตรกรของไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากความสำคัญและปัญหาทรัพยากรดินที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทุกภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน โดยหมุดหมายสำคัญ ที่แสดงออกให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในประเด็นดังกล่าวประการหนึ่ง คือ ย้อนไปในการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดิน ของโลก ครั้งที่ 17 เมื่อปี พ.ศ. 2545 ภายใต้กรอบ Global Soil Partnership ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งนักปฐพีวิทยาทั่วโลกมาร่วมประชุมกัน ได้กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลก (World Soil Day) เนื่องจากตรงกับ วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ซึ่งมีพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟู พัฒนา และการจัดการดินเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก ซึ่งต่อมาองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งและรับรองวันดินโลกขึ้นอย่างเป็นทางการ ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 68ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 25565 ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่ช่วยจุดประกายให้ทุกฝ่ายหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญ กับทรัพยากรดินเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์และบริหารจัดการที่ยั่งยืนร่วมกันในระดับโลกต่อไป

ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย มีพระอัจริยภาพและพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ในด้านการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ดินจำนวนมาก ตลอดช่วงระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ โดยหลักการทรงงานในด้านนี้ของพระองค์ถือได้ว่ามีลักษณะที่เรียบง่ายและเน้นวิธีการที่ผสมกลมกลืนกับธรรมชาติและภูมิสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ตามหลักการแห่งศาสตร์พระราชาที่ให้ความสำคัญกับการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง6 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองตามหลักการระเบิดจากข้างใน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของดินที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ โดยมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 6 แห่ง เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีปัญหา ดินเสื่อมโทรมและเป็นดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ที่มีปัญหาดินเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีปัญหาดินเค็ม และดินเสื่อมโทรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมากกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและปรับปรุงบำรุงดินแทบทั้งสิ้น7 ซึ่งแนวทางการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาเหล่านี้ถูกนำมาสานต่อเพื่อดูแลประชาชนชาวไทยสู่ปัจจุบันสมัย สมดังพระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”8

ด้วยพระปรีชาสามารถด้านการพัฒนาดินของพระองค์ ในปี พ.ศ. 2555 สหภาพวิทยาศาสตร์ ทางดินนานาชาติ (IUSS) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ทางดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลก นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2536 สมาคมควบคุมการชะล้างพังทลายนานาชาติ (IECA) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล International Merit Award ในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและสภาพแวดล้อม และทรงได้รับรางวัลรากหญ้าแฝกชุบสำริด จากธนาคารโลกอีกด้วย อีกทั้งในปี พ.ศ. 2542 องค์การอาหาร และการเกษตรแห่งในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร และสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน สหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเทเลฟูด (Telefood Award) เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ

ภาพที่ 1 รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณด้านดิน
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมพัฒนาที่ดิน

สคทช. กับภารกิจสืบสาน รักษา และต่อยอดการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีภารกิจด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้เกิด ความเป็นเอกภาพ เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ได้น้อมนำศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง หลักภูมิสังคม และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มากำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) เพื่อเป็นกรอบและทิศทางหลักเชิงนโยบายระยะยาว ของประเทศ9 ซึ่งประกอบด้วยประเด็นนโยบายหลัก 4 ด้าน โดยในประเด็นนโยบายด้านที่ 2: การใช้ที่ดิน และทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐและเอกชน มีความเหมาะสมกับศักยภาพของที่ดินและสมรรถนะของดิน มีความสมดุล และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคงของประเทศตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มีแนวทางการพัฒนาหลัก ในการปรับปรุง ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพดินให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ด้วยการน้อมนำ แนวทางการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามพระราชดำริมาใช้ในการฟื้นฟู ปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพดิน ร่วมกับการส่งเสริมการนำความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการฟื้นฟู ปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพดิน10

นอกจากนี้ สคทช. ยังให้ความสำคัญกับการบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ โดยในส่วนของแผนงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนา คุณภาพดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ถือเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักทำหน้าที่บูรณาการ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรดินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการดำรงชีวิตของประชาขน โดยเฉพาะในภาคเกษตร ของไทยเกิดความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

สำหรับการจัดงานวันดินโลกประจำปี 2565 ของประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดจัดงานขึ้นภายใต้หัวข้อ “Soils, where food begins: อาหาร ก่อกำเนิด เกิดจากดิน” ระหว่างวันที่ 4 – 7 ธันวาคม 2565 ณ สถานีพัฒนาที่ดินตาก จังหวัดตาก เพื่อเทิดพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน ในวันที่ 5 ธันวาคม 2565 รวมทั้งสร้างความตระหนักให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาพดินที่ดี ซึ่งจะส่งผลถึงการสร้าง ความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงประชากรโลกและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี11

วันดินโลกจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับประเด็นหรือภัยคุกคาม ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดินที่สำคัญและจำเป็นต้องได้รับการจัดการและผลักดันให้เกิดข้อสรุปหรือผลกระทบ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก จึงนับเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกัน หาแนวทางไปสู่การใช้ดินอย่างเหมาะสม รวมถึงเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา และอนุรักษ์ดินอย่างยั่งยืน ตามศาสตร์พระราชาที่พระองค์ได้ฝากไว้เป็นหลักหมายของแผ่นดิน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจะได้บูรณาการความร่วมมือและร่วมใจกันสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อเติมเต็มความหมายให้กับศาสตร์พระราชา ที่จะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพวกเราคนไทยทุกคน

ภาพที่ 2 สัญลักษณ์วันดินโลก ประจำปี 2565
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมพัฒนาที่ดิน

อ้างอิง

1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

3 บทความนี้ผู้เขียนจะใช้คำว่า “ดิน” และ “ทรัพยากรดิน” ที่หมายความถึง ดิน รวมถึงหิน กรวด ทราย แร่ธาตุ และอินทรียวัตถุต่าง ๆ ที่เจือปนกับเนื้อดิน ตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562

4 สำนักงานคณะกรรมโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). (ร่าง) นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580), หน้า 38 – 41.

5 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน). (2565). ที่มาของวันดินโลก. เข้าถึงเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565 จากhttps://www.arda.or.th/knowledge_detail.php?id=37

6 หน่วยงานราชการในพระองค์. (2565). หลักสูตรจิตอาสา 904. เข้าถึงเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565. จาก https://www.royaloffice.th/จิตอาสา/

7 กรมพัฒนาที่ดิน. (2561). วันดินโลก (World Soil Day). เข้าถึงเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565 จาก http://worldsoilday.ldd.go.th/history.php

8 ไทยโพสต์. (2563). ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป. เข้าถึงเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.thaipost.net/main/detail/67432

9 สุขฤทัย ภคกษมา และคณะ. (2565). ก้าวเดิน…เพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

10 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). (ร่าง) นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580), หน้า 108 – 109.

11 คมชัดลึกออนไลน์. (2565). กรมพัฒนาที่ดิน จัดงานวันดินโลก 2565 "อาหาร ก่อกำเนิด เกิดจากดิน". เข้าถึงเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.komchadluek.net/news/economic/537233


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint