ความเป็นมา

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีนโยบายที่จะรักษาพื้นที่ป่าไม้ไว้ให้ได้ร้อยละ 50 จากพื้นที่ของประเทศทั้งหมด 321 ล้านไร่ (ถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2504-2509 ให้มีพื้นที่ป่าไม้ถาวรของชาติร้อยละ 50 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 156 ล้านไร่) โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจจำแนกประเภทที่ดิน เพื่อสำรวจและจำแนกที่ดินในท้องที่ 60 จังหวัด (ยกเว้น 11 จังหวัด ที่ไม่มีพื้นที่ป่าไม้ คือ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี พระนคร ธนบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจังหวัดนครปฐม) เพื่อพิจารณาแนวเขตที่เห็นสมควรรักษาไว้เป็นเขตป่าไม้โดยประมาณ และลงไว้ในแผนที่มาตราส่วน 1: 1,000,000

ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2504 อนุมัติประกาศเขตป่าที่จะสงวนคุ้มครองในจังหวัดต่างๆ ซึ่งถูกเรียกว่า "ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี" รวม 1,300 แปลง เป็นเนื้อที่ประมาณ 175 ล้านไร่ (คิดเป็นร้อยละ 54 ของประเทศ) และป่าที่จะจัดสรรเพื่อเกษตรกรรมและการใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกประมาณ 31 ล้านไร่

ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งขณะนั้นกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการนำพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นป่าไม้ถาวรไปดำเนินการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามหลักวิชา ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 116 ล้านไร่ แต่ยังมีเนื้อที่ป่าไม้ถาวรเหลืออยู่ประมาณ 30 ล้านไร่ ที่ยังไม่ได้ประกาศ พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่หมดสภาพป่า และมีราษฎรเข้าไปทำมาหากินโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และบางแห่งก็มีเอกสารสิทธิ์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้มีปัญหาขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับผู้เข้าถือครอง รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะปรับปรุงการจำแนกประเภทที่ดิน โดยมีมติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 เรื่องนโยบายการใช้และกรรมสิทธิ์ที่ดิน มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการสำรวจและจำแนกประเภทที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ถาวรที่ยังไม่ได้กำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ

ผลการสำรวจในครั้งนั้นสามารถจำแนกได้เป็น

  1. พื้นที่ที่ควรรักษาไว้เป็นป่าไม้ถาวร (รวมพื้นที่ซ้อนทับกับป่าสงวนแห่งชาติ) ประมาณ 18,299,535 ไร่ ให้กรมป่าไม้รับไปดำเนินการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มเติมต่อไป
  2. พื้นที่จำแนกออกจากป่าไม้ถาวรเพื่อเป็นที่จัดสรร หรือใช้ประโยชน์อื่น ประมาณ 11,653,746 ไร่
    แบ่งเป็นที่ทำกินของราษฎรหรือเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ เนื้อที่ประมาณ 11,522,122 ไร่ และพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าหย่อมเล็กหย่อมน้อย เนื้อที่ไม่เกิน 500 ไร่ และไม่ติดกับป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ตามมติคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ครั้งที่ 4/2530 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2530) ให้จัดเป็นป่าชุมชน รวม 1,097 แห่งเนื้อที่ประมาณ 131,624 ไร่)

    ที่มา: สำนักเทคโนโลยีการสำรวจและทำแผนที่ กรมพัฒนาที่ดิน, พฤศจิกายน 2550

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ "ป่าชุมชนตามมติคณะรัฐมนตรี" ซึ่งหมายถึงพื้นที่ป่าที่ถูกจำแนกออกจาก "ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี" ส่วนที่เหลือจากการถือครองของราษฎรที่ยังคงเป็นสภาพป่าหรือพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการเกษตร และไม่อยู่ต่อเนื่องกับเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติ เพื่อสงวนไว้ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ป่าชุมชน มีสภาพเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ตามมาตรา 1304 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้พื้นที่มีสภาพเป็นทรัพย์สินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยอาศัยอำนาจคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติตามมาตรา 20 (4) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2529) ว่าด้วยการสงวนหรือหวงห้ามที่ดินของรัฐเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อดำเนินการสงวนหวงห้ามตามมาตรา 20 (4) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ก็จะมีสภาพเป็นที่สาธารณประโยชน์ ตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้เป็นหลักฐาน และจะอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และพื้นที่ดังกล่าวนี้จะไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484

ทั้งนี้ ในระหว่างปี พ.ศ. 2529 - 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จำแนกประเภทที่ดินออกจากป่าไม้ถาวรเพื่อจัดเป็นป่าชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 47 จังหวัด รวม 1,117 แห่ง ซึ่งต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. 2553 -2554 กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าชุมชนตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นรายจังหวัด บนแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสี มาตราส่วน 1:4,000 ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมได้จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่ป่าชุมชนตามมติคณะรัฐมนตรีรวมทั้งสิ้น 132,978 ไร่


Slide
Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

Slide

รางวัล คนดีศรี สคทช. ประจำปี 2567

previous arrow
next arrow

epetitions

complaint