ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ มีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกรม ในสํานักนายกรัฐมนตรีและเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2564 โดยทําหน้าที่รับผิดชอบในการดําเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และมีหน้าที่รับผิดชอบดําเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 รวมทั้งภารกิจด้านการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติตามภารกิจดังกล่าว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ตามหมุดหมายที่ 13 และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้ดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยได้ยึดแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้ความจำเป็นในการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาการทุจริตของประเทศ โดยที่แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นนี้ได้กำหนดแผนย่อยไว้ 2 แผน คือ (1) แผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ (2) แผนย่อยการปราบปรามการทุจริต หากสามารถดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าประสงค์ จะช่วยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพและมุ่งสู่เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างยั่งยืน โดยบทความนี้ผู้เขียนจะมุ่งเน้นไปที่แผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
สคทช. กับเป้าหมายในการดำเนินงานตามแผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมปัจจุบัน สถานการณ์การทุจริตและประพฤติมิชอบภาครัฐเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดปัญหาหนึ่งของสังคมไทยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริต และปัญหาในกระบวนการยุติธรรม โดยกำหนดนโยบาย รวมทั้งมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย การปรับปรุงกระบวนงานในการอนุมัติ อนุญาต การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและค่านิยมในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริต โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนและภาคีต่าง ๆ ร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริต ทำให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2566 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุด คือ 90 คะแนน จัดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก คือ ประเทศเดนมาร์ก อันดับที่ 2 ของโลกได้ 87 คะแนน คือ ประเทศฟินแลนด์ อันดับที่ 3 ของโลกได้ 85 คะแนน คือ ประเทศนิวซีแลนด์ ในขณะที่ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญกับสถานการณ์การทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ เน้นการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยเฉพาะหลักการควบคุมการทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption Control) มุ่งสู่การเป็นข้าราชการใสสะอาด ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสําคัญในการดําเนินงานของส่วนราชการให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำให้ปัญหาการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐลดลง ประชาชน และชาวต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อการทํางานของหน่วยงานภาครัฐ และส่งผลให้ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยสูงขึ้นต่อไป
สคทช. กับการสร้างความตระหนักรู้ด้านการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบการสร้างความตระหนักรู้ด้านการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ถือเป็นกลไกหนึ่งซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในแผนย่อยการป้องกันการทุจริตที่ตั้งไว้ โดย สคทช. ได้ดำเนินการผ่านกิจกรรมหรือโครงการที่มีการจัดขึ้นสอดแทรกเข้าไปในหน่วยงาน ดังนี้
- โครงการวันต่อต้านทุจริตสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการวันต่อต้านทุจริตสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายใต้หัวข้อ ONLB Fight Against Corruption: “สคทช. สู้ให้สุด หยุดการโกง” เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล เพื่อเป็นการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต และแสดงพลังต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้กับบุคลากรของ สคทช. ไม่ยอมรับและไม่ทนต่อการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
- กิจกรรมการประกาศเจตนารมณ์ผู้บริหารด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบและนโยบาย “No Gift Policy” จากการปฏิบัติหน้าที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้ประกาศเจตนารมณ์นโยบาย No Gift Policy ตามหลักคิดที่ว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่บริการประชาชนและมีรายได้จากภาษีที่ประชาชนให้แล้ว จึงไม่สมควรรับประโยชน์ใด ๆ อีก” ซึ่งการประกาศเจตนารมณ์นโยบาย No Gift Policy นั้น จะเป็นการสร้างการรับรู้ ปลูกจิตสำนึก และสร้างทัศนคติ ค่านิยมที่ดีแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัด ให้มีจิตสำนึกในการปฏิเสธการรับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในขณะก่อนและหลังการปฏิบัติ ดำเนินการผ่านการจัดกิจกรรมพร้อมกับโครงการที่ 1 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
- โครงการเสริมสร้างองค์ความรู้การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งการประเมิน ITA เป็นมาตรฐานที่สำคัญในการพัฒนาภาครัฐด้านคุณธรรม ความโปร่งใส ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นองค์กรที่บริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและปลอดการทุจริต สอดคล้องกับแนวคิด “สคทช. ใสสะอาด ร่วมต้านทุจริต (ONLB Together Against Corruption)” โดยเมื่อวันที่ 20 - 21 กุมภาพันธ์ 2568 ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ สคทช. Integrity and Transparency Assessment ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 6 ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย
- โครงการขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ สคทช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อให้หน่วยงานที่เข้าร่วมมีคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และขับเคลื่อนให้หน่วยงานภาครัฐมีผลการดำเนินงานบรรลุซึ่งเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2566 - 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาภาครัฐในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส อันจะนำไปสู่การป้องกันการทุจริตในภาครัฐ นำไปสู่การขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ที่สามารถยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยได้ โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างองค์ความรู้การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 6 ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย
- โครงการเสริมสร้างองค์ความรู้การบริหารความเสี่ยงการทุจริตให้แก่บุคลากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ได้จัดทำเครื่องมือการประเมินความเสี่ยงการทุจริตเชิงคุณภาพ “ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต” (Corruption Risk Management Systems: CRMS) เพื่อประเมินประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีมาตรการป้องกันการทุจริต ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้เล็งเห็นความความสำคัญในการเสริมสร้างองค์ความรู้การบริหารความเสี่ยงการทุจริตให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยองค์ความรู้นี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตในองค์กรได้ และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างแท้จริง โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างองค์ความรู้การบริหารความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปกลไกและกระบวนการปราบปรามการทุจริต
- โครงการการขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตของ สคทช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้เล็งเห็นความความสำคัญในการขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริต เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจแนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ทั้งการจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต และการรายงานผลหรือความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตได้มีการดำเนินการแล้ว ผ่านการจัดประชุมคณะกรรมการกำกับการประเมินความเสี่ยงการทุจริตของ สคทช. และประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตของ สคทช. ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปกลไกและกระบวนการปราบปรามการทุจริต
- โครงการเสริมสร้างองค์ความรู้หลักกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ข้าราชการกับการดำเนินการทางวินัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความความสำคัญในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ข้าราชการกับการดำเนินการทางวินัย และการปฏิบัติตนตามกฎหมาย กฎระเบียบประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นแผนงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 3 สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย
- โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Strong จิตพอเพียงต้านทุจริต รุ่นที่ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้นำหลัก STRONG ตามหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาปรับใช้ในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความรู้ ความเข้าใจด้านการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อปลูกฝังให้มีทัศนคติที่ดี ไม่ยอมรับการทุจริต เกิดความตระหนักกับปัญหาการทุจริตหรือผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน เป็นแผนงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้วางกรอบการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าประสงค์ และมีความสอดคล้องกับการบูรณาการการขับเคลื่อนองค์กรและภารกิจด้านที่ดินและทรัพยากรดิน ตามเจตนารมณ์ที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยปลอดการทุจริต
ทั้งนี้ การสร้างความตระหนักรู้ดังกล่าว สามารถพัฒนาสมรรถนะองค์กรและเจ้าหน้าที่ เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนมุ่งสู่ความร่วมมือ ที่เป็นหนึ่งเดียวเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
อ้างอิง
1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
2 นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
3 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
4 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2564, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 138 ตอนที่ 11 ก ฉบับที่ 20 (10 กุมภาพันธ์ 2564)
5 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2566). แผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ฉบับปรับปรุง ธันวาคม 2566, หน้า 1
6 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2566). แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2566 - 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). เข้าถึงเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567 จาก http://nscr.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2023/03/masterplan_updated2023_080363.pdf
7 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ. (2567). ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2566 ประเทศไทย. เข้าถึงเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.nacc.go.th/categorydetail/2018083118464105/20240130143633?.
8 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ. (2566). การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล : 9 ธันวาคม เข้าถึงเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2567 จาก https://acm.nacc.go.th/press-release/iacd.
9 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ. (2567). คู่มือการประเมินความเสี่ยงการทุจริต Corruption Risk Assessment ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568. เข้าถึงเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2567 จาก https://cms.pacc.go.th//upload/2024/11/08/CRA_App_211067.pdf