โดย นายวิรศักดิ์ นาคเพ็ง1  นางสาวพิมพ์พิสุทธิ์ ทองคำ2
กองที่ดินของรัฐ
กลุ่มงานวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ มีภารกิจในการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐตามมาตรการของ คทช. โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศที่มีการบันทึกภาพไว้ครั้งแรกหลังการเป็นที่ดินของรัฐ และการสำรวจพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ โดยกลุ่มงานวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศมีภารกิจในการสำรวจพื้นที่และจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อสนับสนุนภารกิจของคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งวิธีการดำเนินงานการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศนั้น มีการปฏิบัติงานอ่าน แปลฯ ในภาคสำนักงาน การปฏิบัติงานตรวจสอบข้อมูลภาคสนาม การปฏิบัติงานภายหลังจากการตรวจสอบข้อมูลภาคสนาม และจัดทำรายงานผลการอ่าน แปลฯ3 โดยเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ แต่เนื่องจากสถานะเป็นที่ดินของรัฐทุกประเภทมีการประกาศไว้ในอดีตซึ่งย้อนหลังไปหลายปี จนปัจจุบันพื้นที่นั้น ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง หรือยังคงสภาพเดิมน้อยมาก จำเป็นต้องสำรวจพื้นที่จริง และในการตรวจสอบพื้นที่ต่าง ๆ นั้นมีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงพื้นที่สำรวจ เนื่องจากภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน รวมถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่หลากหลาย ทำให้มีอุปสรรคในการสำรวจพื้นที่ จึงได้นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Uncomanned Aeril Vehicle: UAV) หรือ โดรน (Drone) มาใช้ในการตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลสนับสนุนการอ่าน แปลฯ ในมิติต่างๆ ให้มีความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง และครบถ้วน

ปัจจุบันมีการนำอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) หรือ โดรน (Drone) มาใช้กันอย่างแพร่หลายในการสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ เช่น พื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัย พื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง ซึ่งกระบวนการอ่าน แปลฯ มีความจำเป็นต้องตรวจสอบพื้นที่ต่าง ๆ ในปัจจุบัน เพื่อพิสูจน์ทราบรายละเอียด และสภาพพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ โดยมีประเภทของอากาศยานไร้คนขับ ลักษณะการบินถ่ายภาพในพื้นที่สำรวจ การประมวลภาพถ่ายทางอากาศยานจากอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และตัวอย่างพื้นที่ต่างๆ ที่ใช้ UAV ในการสำรวจพื้นที่เพื่อประกอบการอ่าน แปลฯ ที่แตกต่างกันออกไป

ประเภทของอากาศยานไร้คนขับ

มีการแบ่งประเภทที่สามารถกำหนดรูปแบบได้หลายลักษณะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ในภารกิจสำหรับอากาศยานไร้คนขับในงานสำรวจด้วยภาพถ่ายสามารถ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง (Fixed Wing) เป็นอากาศยานที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องบินทั่วไป ใช้ระยะเวลาการบินประมาณ 30 - 60 นาที สามารถบินครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าอากาศยานไร้คนขับแบบปีกหมุน ในการลงจอดจะต้องอาศัยพื้นที่โล่งกว้างพอสมควร
    ภาพที่ 1 แสดงตัวอย่างอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง (Fixed Wing)
    ที่มา: https://www.builk.com/th/session-3-drone-for-smart-engineering/
  2. อากาศยานไร้คนขับชนิดหลายปีกหมุน (Multirotor) เป็นอากาศยานขึ้นลงแนวดิ่งอาศัยการหมุนของใบพัดในการขึ้นลงและขับเคลื่อนไปในทิศทางต่างๆ ประกอบด้วยจำนวน 3, 4, 6 และ 8 ใบพัด โดยทั่วไปใช้ระยะเวลาการบินประมาณ 10 - 20 นาที
    ภาพที่ 2 แสดงตัวอย่างอากาศยานไร้คนขับชนิดหลายปีกหมุน (Multirotor)
    ที่มา: https://accurateagdrones.com/products/dji-mavic-3-thermal
  3. อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุนเดี่ยว (Single-Rotor Helicopter) เป็นอากาศยานที่มีรูปร่างและโครงสร้างคล้ายเฮลิคอปเตอร์ ไม่เหมือนอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุน มีใบพัดขนาดใหญ่ เพียงใบเดียวที่ใช้ในการเคลื่อนที่และมีใบพัดขนาดเล็กอยู่บนหางของอากาศยานเพื่อควบคุมทิศทางในการบิน ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่าอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุนบางรุ่น
    ภาพที่ 3 แสดงตัวอย่างอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุนเดี่ยว (Single-Rotor Helicopter)
    ที่มา: https://www.builk.com/th/session-3-drone-for-smart-engineering/
  4. อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึงขึ้นลงแนวดิ่ง (Fixed-Wing Hybrid) เป็นอากาศยาน ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ มีลำตัวอากาศยานเป็นแบบอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง แต่สามารถขึ้นลงแนวดิ่งได้ ซึ่งเป็นการนำเอาข้อดีของประเภทอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึงมารวมกับอากาศยานไร้คนขับชนิดหลายปีกหมุน4
    ภาพที่ 4 แสดงตัวอย่างอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึงขึ้นลงแนวดิ่ง (Fixed-Wing Hybrid)
    ที่มา: https://www.builk.com/th/session-3-drone-for-smart-engineering/

สำหรับ สคทช. มีการใช้งานอากาศยานไร้คนขับชนิดหลายปีกหมุน (Multirotor) เนื่องจากมีคุณสมบัติที่สะดวกต่อการใช้งานสำรวจพื้นที่ที่มีขนาดไม่กว้างมาก โดยอากาศยานไร้คนขับชนิดหลายปีกหมุน มีความสามารถในการบินไม่เกิน 2 ตารางกิโลเมตร ต่อแบตเตอรี่ 1 ก้อน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานสำรวจพื้นที่ มีความรวดเร็วในการสำรวจพื้นที่ โดยใช้ระยะเวลาในการบินถ่ายภาพในพื้นที่ไม่เกิน 20 นาที ทำให้ลดระยะเวลาในการปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ และได้ข้อมูลภาพในพื้นที่สำรวจที่เป็นปัจจุบันในหลายมุมมอง ภาพสามารถนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนการอ่าน แปลฯ พื้นที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ภาพที่ 5 แสดงอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) หรือ โดรน (Drone)
ที่มา: กองที่ดินของรัฐ
ลักษณะการบินถ่ายภาพในพื้นที่สำรวจ

แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่ภูเขา และพื้นที่ราบ ซึ่งการวางแผนการบินถ่ายภาพจะแตกต่างกันในขั้นตอนการกำหนดค่าความสูงในการบินถ่ายภาพ โดยพื้นที่ภูเขาจะมีระยะความสูงในการบินถ่ายภาพมากกว่าพื้นที่ราบ ผู้ใช้งานต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการใช้งาน UAV ต้องวางแผนการบินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้ได้ภาพที่ครอบคลุมพื้นที่สำรวจ

การประมวลภาพถ่ายทางอากาศจากอากาศยานไร้คนขับ (UAV)

เมื่อได้ภาพถ่ายจากการสำรวจภาคสนามตามที่ต้องการแล้ว นำภาพถ่ายที่ได้มา ผ่านกระบวนการทางโฟโตแกรมเมตรี (Photogrammetry) โดยใช้โปรแกรม ERDAS IMAGINE เครื่องมือ IMAGINE UAV ในการประมวลผลภาพ ทำให้ได้ภาพออร์โท (Orthophoto) ที่มีประสิทธิภาพ มีการปรับแก้ความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่งแล้ว (Tilt Displacement) และสร้างเป็นภาพสามมิติ สามารถใช้ในการวิเคราะห์พื้นที่ที่เข้าไปสำรวจไม่ถึงในมุมต่างๆ ซึ่งนำมาใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับตำแหน่งเดียวกันในภาพถ่ายทางอากาศที่อ่าน แปลฯ เพื่อให้ได้ผลการอ่าน แปลฯ ที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ

ตัวอย่างพื้นที่ต่าง ๆ ที่ใช้ UAV ในการสำรวจพื้นที่เพื่อประกอบการอ่าน แปลฯ
  1. พื้นที่ลาดชันริมตลิ่งแม่น้ำหรือริมทะเล พื้นที่ลักษณะนี้ยากต่อการเข้าถึงจุดสำรวจ สามารถใช้ UAV บินถ่ายภาพในมุมที่เข้าไม่ถึงเพื่อนำมาใช้พิจารณาเปรียบเทียบกับตำแหน่งเดิมในภาพถ่ายทางอากาศ เนื่องจากพื้นที่จุดนี้มองในภาพถ่ายมีลักษณะคล้ายกับพื้นที่ใช้ประโยชน์ประเภทสวนยางพารา มีลักษณะเป็นร่องและแถวเรียงตัวเป็นระเบียบ ถ้าไม่มีการตรวจสอบพื้นที่จริงอาจทำให้อ่าน แปลฯ ภาพถ่ายผิดพลาดได้ ซึ่งเมื่อดูจากภาพที่ได้จาก UAV ปรากฏว่าเป็นพื้นที่ริมทะเลที่มีความลาดชัน เป็นด้านที่รับลมทะเลอยู่ตลอด ทำให้ต้นไม้ที่ขึ้นมีลักษณะเอนลู่ไปตามกระแสลมในทิศทางเดียวกันทำให้มองเห็นในภาพถ่ายคล้ายกับสวนยาง หรือพืชผลอาสินที่มนุษย์ปลูกขึ้นมา แต่ที่จริงคือป่าไม้ธรรมชาติที่โดนกระแสลมพัดอยู่ตลอดทำให้มีรูปแบบที่ต่างจากจุดอื่น ซึ่งการใช้ภาพที่ได้จาก UAV สามารถช่วยในกรณีพื้นที่ลักษณะนี้ได้
    ภาพที่ 6 แสดงตัวอย่างพื้นที่ลาดชันริมฝั่งทะเล
    ที่มา: กองที่ดินของรัฐ
  2. พื้นที่ลุ่ม เป็นลักษณะภูมิประเทศที่มีความลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมขังและมีวัชพืชขึ้นปกคลุม มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน หรือเป็นพื้นที่บริเวณรอยต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่สามารถเดินสำรวจได้ การใช้ภาพที่ได้จาก UAV ทำให้มองเห็นภาพมุมสูงครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของพื้นที่ลุ่มนั้น สามารถมองเห็นตำแหน่งริมขอบของพื้นที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศที่บันทึกภาพไว้ในอดีต
    ภาพที่ 7 แสดงตัวอย่างพื้นที่ลุ่ม
    ที่มา: กองที่ดินของรัฐ
  3. พื้นที่ลาดชันบนภูเขา เป็นลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเนินเขา มีความลาดชัน ทำให้ใช้ระยะเวลานานในการเดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ แต่หากใช้ UAV ในการถ่ายภาพจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของพื้นที่ในมุมภาพที่แตกต่างออกไป
    ภาพที่ 8 แสดงตัวอย่างพื้นที่ลาดชัน
    ที่มา: กองที่ดินของรัฐ
  4. แปลงเกษตรขนาดใหญ่ที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เป็นรูปแบบการทำประโยชน์ในพื้นที่แปลงเกษตรขนาดใหญ่โดยการปลูกปาล์มน้ำมัน มะพร้าว อ้อย หรือยางพาราเต็มทั้งแปลง
    ภาพที่ 9 แสดงตัวอย่างพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน และสวนยางพารา
    ที่มา: กองที่ดินของรัฐ
  5. ป่าชายเลน เป็นลักษณะของป่าไม้ที่มีภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มต่ำอยู่ติดกับทะเลมีน้ำทะเลท่วมถึง มีพืชพรรณที่ต่างจากป่าริมฝั่งชัดเจน การเข้าไปสำรวจทำได้ไม่ทั่วถึง
    ภาพที่ 10 แสดงตัวอย่างพื้นที่ป่าชายเลน
    ที่มา: กองที่ดินของรัฐ
  6. ทางน้ำไหลผ่านภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ที่ยากต่อการเดินสำรวจในภูมิประเทศจริง
    ภาพที่ 11 แสดงตัวอย่างทางน้ำไหลผ่านหุบเขา
    ที่มา: กองที่ดินของรัฐ
  7. รูปทรงของต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายกัน อาจทำให้อ่าน แปลฯ ผิดพลาดได้ ต้นชก เป็นไม้ป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พบมากที่จังหวัดพังงา มีลำต้นและใบคล้ายกับต้นปาล์ม และมะพร้าว การมองเห็นในภาพถ่ายชนิดขาว - ดำ ที่ถ่ายไว้ในอดีตอาจทำให้เห็นพื้นที่นี้เป็นพื้นที่มีร่องรอยการทำประโยชน์ได้
    ภาพที่ 12 แสดงตัวอย่างต้นชกกับต้นปาล์มน้ำมัน
    ที่มา: กองที่ดินของรัฐ

จากภาพตัวอย่างที่แสดงในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าการใช้ภาพถ่ายที่ได้จากการสำรวจพื้นที่โดยใช้ UAV มาเพื่อประกอบการอ่าน แปลฯ นั้น มีประโยชน์มากในการวิเคราะห์ผลการอ่าน แปลฯ เพื่อหาร่องรอยการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่มีในอดีต เป็นการพิสูจน์สิทธิในที่ดินที่มีผลต่อการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิของประชาชน ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยให้การปฏิบัติงานด้านการอ่าน แปลฯ มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับอดีตได้ เป็นการประยุกต์ใช้เครื่องมือในการทำงานร่วมกับเครื่องมือในการอ่าน แปลฯ เช่น กล้องมองภาพสามมิติ (Mirror Stereoscope) โปรแกรมมองภาพสามมิติ (StereoPhoto Pro) และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการอ่าน แปลฯ ให้เกิดผลลัพธ์ต่อกระบวนการพิสูจน์สิทธิให้กับประชาชนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่าน แปลฯ เพิ่มความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของผลการอ่าน แปลฯ นอกจากนี้การใช้งาน UAV ในการสำรวจพื้นที่ยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ช่วยในการสำรวจพื้นที่ได้ เช่น ภาพดาวเทียมรายละเอียดสูงก็สามารถใช้ในการสำรวจพื้นที่เพื่อประกอบการอ่าน แปลฯ ได้เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากภาพดาวเทียมมีระยะเวลาของการได้มาซึ่งข้อมูลภาพ และอาจมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาภาพ สคทช. จึงนำภาพถ่ายจาก UAV มาใช้เพื่อลดขั้นตอน และลดระยะเวลาในกระบวนการอ่าน แปลฯ แต่หากในอนาคตภาพดาวเทียมรายละเอียดสูง มีระยะเวลาของการได้มาซึ่งข้อมูลที่รวดเร็ว หรือมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงก็สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการอ่าน แปลฯ ได้เช่นเดียวกัน


อ้างอิง

1 นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กองที่ดินของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

2 นักวิชาการภูมิสารสนเทศ กองที่ดินของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

3 กองที่ดินของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. (2565). คู่มือการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ, หน้า 29 - 33.

4 พรทิภา พินทอง. (2565). เอกสารประกอบการประเมินผลงาน เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายชำนาญการพิเศษ, หน้า 4 - 5.